Home » กิจกรรมสภาวิชาชีพข่าวฯ, ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ จับมือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ จัดประชุมเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอม

Author by 28/06/21No Comments »
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ จับมือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ จัดประชุมเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอม
( ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ) ที่ห้องประชุม อิศรา ชั้น ๓ อาคารสมาคมนักข่าว​ ได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจัดตั้งเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย โดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้รับความสนใจจากเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมทั้งในเวทีและระบบออนไลน์ อย่างกว้างขวาง เช่น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ เครือข่ายภาคประชาสังคมจากภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ เครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ตัวแทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมไปจนถึงผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากกรมประชาสัมพันธ์
โดยในการประชุมดังกล่าว ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม “ ดีใจที่ทุกคนมีส่วนร่วม จัดตั้งเครือข่ายนี้ ทั้งรณรงค์ส่งเสริมให้พลเมืองมีคุณธรรม เปิดรับสื่ออย่างมีสติและรู้เท่าทัน รวมถึงสร้างเครื่องมือ องค์ความรู้ อย่างเป็นเครือข่าย เพราะจากปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ และมองไปในอนาคต เฟคนิวส์ (Fake News) หรือข่าวปลอม จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน ยิ่งสังคมมีความขัดแย้งกันสูง ภูมิต้านทานทางสติของผู้คนไม่ค่อยจะดีนัก ก็จะเป็นเชื้อร้ายให้กับข่าวปลอมได้เป็นอย่างดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คงไม่มีทางที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้โดยลำพัง จึงขอขอบคุณด้วยความจริงใจที่ทุกๆ ท่าน ทุกเครือข่ายมารวมเป็นพลัง มีจิตอาสาที่จะร่วมทำงานอย่างกัลยาณมิตร ภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด “
ต่อจากนั้น นายโกศล สงเนียม รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเครือข่ายการตรวจสอบข่าวปลอม ว่าจะมีกองบรรณาธิการร่วมมอนิเตอร์ เกี่ยวกับข่าวสารข้อเท็จจริง จากการนำของสื่อมวลชน และข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมกับนำผลการตรวจสอบข่าวปลอมเสนอต่อสาธารณชน โดยที่ผ่านมามีข่าวปลอมมากมายได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน และผู้อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชน ทำให้สื่อกระแสหลักต้องกลายเป็นผู้ตาม ตกเป็นเป้าโจมตี จากการรายงานข่าวความจริงที่ไม่มีใครอยากรู้ รวมทั้งทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักลดลงอย่างรวดเร็ว การจัดตั้งเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมฯ จะเป็นกลไกในการตรวจสอบเฟคนิวส์ แล้วส่งกลับไปยังองค์กรสื่อต้นสังกัด และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ดำเนินการแก้ไข บูรณาการเพื่อช่วยกันสกัดกั้นข่าวปลอม กลไกความร่วมมือทั้งภาคส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ช่วยสร้างกระบวนการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชน
สำหรับการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้นสะท้อนถึงความต้องและคาดหวังในการจัดตั้งเครือข่ายการตรวจสอบข่าวปลอม เช่น นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของทางโครงการจัดตั้งเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ได้เสนอให้โครงการเร่งประสานเครือข่ายและการทำงานต้องเป็นอิสระ ไม่ติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ของทางราชการ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ออกแบบโครงสร้างการทำงานที่ไม่เทอะทะเพื่อคล่องตัวในการทำงาน
ส่วนทางด้านภาคประชาสังคมของโครงการอย่างนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ รักษาการกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า “ การทำงานต้องเท่าทันกับสถานการณ์ อย่างเช่นข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ หรือ การสร้างความสับสนในเรื่องของวัคซีน โครงการฯ ต้องทำการตรวจสอบและทำความเข้าใจกับประชาชน
ทั้งนี้ในภาคส่วนของเครือข่ายในวิชาการด้านสื่อ ที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ ประกอบด้วย
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.สุทิน โรจน์ประเสริฐ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันในแง่ทางวิชาการว่าโครงการฯ ต้องมองถึงผู้สร้างสื่อและให้องค์ความรู้ต่อคนรุ่นใหม่ในการตรวจสอบข่าว รวมไปจนถึงการสร้างสื่อของการตรวจสอบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ ในเรื่องการเรียนการสอนตอนนี้ในหลายสถาบันก็ปรับตัวและมีการสอนในเรื่องการตรวจสอบข่าวมากขึ้น นอกจากนั้น ดร.สิขเรศ ยังได้ย้ำถึงตัวโครงการที่ต้องจุดยืนของตัวโครงการและสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมโดยเร็ว ในด้านของดร.มานะ ได้ฝากถึงกองทุนพัฒนาสื่อฯ ต้องบอกงานในระยะยาว เพราะบางโครงการเป็นโครงการที่ดีแต่ขาดการสนับสนุนดังนั้นกองทุนพัฒนาสื่อฯ ต้องมองถึงการสนับสนุนในระยะยาว
ทางด้านของนายบรรจง นะแส นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน นายมะรูฟ เจะบือราเฮง เครือข่ายภาคประชาสังคมจากภาคใต้ รวมถึงนายประกาศ เรืองดิษฐ์ จากศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนาเครือข่ายงานพัฒนา ได้แสดงความเห็นต่อโครงการฯ ว่าจะต้องมีความพร้อมในการทำงานต้องเป็นอิสระและต้องตรวจสอบข่าวจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ที่ให้ข่าวโน้มน้าวในเชิงผลประโยชน์ที่เกินจริง การสร้างข่าวปลอมเพื่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องศาสนาและความเชื่อรวมไปจนถึงการให้ความสำคัญทั้งสื่อใหม่และสื่อเก่าเพื่อเข้าถึงประชาชนทุกระดับ ด้านนายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ ตัวแทนภาคสื่อท้องถิ่นและประชาสังคมภาคอีสาน ได้เสนอเพิ่มเติมให้โครงการเร่งประสานเครือข่ายวางระบบการทำงานโดยเร็วเพื่อให้ทันกับสถานการณ์อย่ากังวล เพราะมีต้นทุนทางเครือข่ายของการทำงานและศักยภาพของงานสื่อ
ในส่วนของเครือข่ายภาคองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี สภาสื่อมวลชนแห่งชาติ นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ได้เสนอความคิดเห็นต่อการจัดตั้งโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการโดยอิสระสร้างเครือข่ายในทุกภาคส่วนทั้งด้านสื่อด้วยกัน และองค์กรที่ทำการตรวจสอบข่าวปลอมซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายองค์กร มีการทำงานที่หลากหลายแต่ยังขาดการเชื่อประสานกัน และควรให้น้ำหนักกับการสร้างกลไกในการตรวจสอบข่าวให้กับทุกภาคส่วนนอกจากนั้นยังได้เสนอให้โครงการฯ ใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ในการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงของข่าวหลังการตรวจสอบแล้ว พร้อมเสนอแนะต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ ให้มองถึงการสนับสนุนในระยะยาวต่อผู้ขอรับการสนับสนุนและกระจายการให้การสนับสนุนอย่างทั่วถึง
ด้านเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพสื่อนำโดยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ นายมนตรี จอมพันธ์ ผู้จัดรายการข่าวจากวิทยุ อสมท. FM ๙๖.๕ นายอิทธิพันธ์ บัวทอง ผู้จัดรายการข่าวจาก FM ๙๐.๕ วิทยุกรมการพลังงานทหาร นายสิทธิโชค เกษรทอง อดีตบรรณาธิการบริหารคลื่นข่าว วิทยุ FM ๑๐๑ เสนอความเห็นให้โครงการเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม อย่ากังวลต่อปัญหาและต้องกล้าตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารจากสื่อด้วยกัน เพราะบางทีข่าวปลอมก็ออกมาจากสื่อหลัก ทั้งในส่วนของสื่อของรัฐและภาคเอกชน ด้านตัวแทนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้แสดงความคิดเห็นปิดท้ายว่า “ต้องขอขอบคุณสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทีจัดประชุมเพื่อระดมเครือข่ายทำโครงการนี้วึ่งถือว่าเครือข่ายมีความหลากหลาย แลถ้าการดำเนินการเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพข่าวฯ ตั้งไว้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ กับหลายภาคส่วน และขอขอบคุณทุกข้อเสนอแนะของหลายๆ ท่านที่มีต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ ซึ่งทางกองทุนก็จะนำไปพิจารณาถึงข้อเท็จจริง ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการทำงานของกองทุน
นอกจากนี้แล้วยังมีผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่นๆ อีก เช่น นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นางสาวนิรมล ประสารสุข ผู้จัดการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายชัยวัฒน์ บุญชวลิต เลขานุการกรมประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ที่เข้าสังเกตการณ์การประชุมในครั้งนี้

Leave your response!

Add your comment below, or trackback from your own site. You can also subscribe to these comments via RSS.

Be nice. Keep it clean. Stay on topic. No spam.

You can use these tags:
<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

This is a Gravatar-enabled weblog. To get your own globally-recognized-avatar, please register at Gravatar.