Home » ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓

ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีเจตนารมณ์รับรองสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารในความครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือส่วนบุคคล เสรีภาพในการนำเสนอ หรือเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารตามหลักวัตถุวิสัย ภายใต้พื้นฐานความรู้ และความถูกต้องครบถ้วน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การแสดงข้อความ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหาร เจ้าของกิจการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเคลื่อนไหวกดดันทางการเมืองหรือสังคม

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรสมาชิกและสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ต่อไป

อาศัยความตามข้อ ๑๘ (๔) แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในการประชุมครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๙ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒  มีมติเห็นชอบให้ตราข้อบังคับฉบับนี้ ดังมีข้อความต่อไปนี้

หมวด ๑

หมวดทั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๓”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“วิทยุ” หมายถึง สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือรายการทางสถานีวิทยุ ทั้งนี้ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียง เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็นโดยสถานีหรือรายนั้นด้วย

“โทรทัศน์” หมายถึง สถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกและการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งนี้ ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียงและภาพ เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็นโดยสถานีหรือรายการนั้นด้วย

“สมาชิก” หมายถึง องค์กรสมาชิกสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และผู้ประกอบวิชาชีพข่าวในองค์กรสมาชิกนั้นด้วย

“ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว” หมายถึง เจ้าของสถานี ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าฝ่ายข่าว และให้หมายความรวมถึง ผู้ประกอบการด้านข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แลผู้ปฏิบัติงานด้านข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ด้วย

ข้อ ๔ สมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ข้อใดข้อหนึ่ง ผู้นั้นประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์

สมาชิกใดกำหนดจริยธรรมขององค์ตนเองไว้แล้ว และมีหลักเกณฑ์ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้

หมวด ๒

จริยธรรมของวิทยุและโทรทัศน์

ข้อ ๕ วิทยุและโทรทัศน์ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามหลักวัตถุวิสัย ภายใต้พื้นฐานความรู้ และความถูกต้องครบถ้วน

ข้อ ๖ วิทยุและโทรทัศน์ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ และไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ข้อ ๗ วิทยุและโทรทัศน์มีหน้าที่ปฏิบัติตนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ดังนี้

(๑)       ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะชนตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรมโดยปราศจากอคติ ๔ ได้แก่ ฉันทาคติ โทษาคติ ภยาคติ และโมหาคติ

(๒)     หากมีการอ้างอิง หรือคัดลอกข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลอื่น ต้องแจ้งที่มาของข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่นำเสนอหรือเผยแพร่ดังกล่าว

(๓)      ต้องปกปิดชื่อตัว ชื่อสกุล รูปร่าง ลักษณะ และสถานะของแหล่งข่าว รวมทั้งข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำคัญที่แหล่งข่าวประสงค์ให้ปกปิด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากแหล่งข่าว และเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การเปิดเผยดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อแหล่งข่าว

(๔)      การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่เกิดความผิดพลาด ต้องดำเนินการแก้ไขความผิดพลาดโดยทันที พร้อมทั้งขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าว

(๕)      การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์และโศกนาฏกรรมแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าว

(๖)       การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงประโยชน์แห่งสาธารณะ

(๗)      การแสดงความคิดเห็น หรือการวิจารณ์ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกพาดพิง และต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยต้องแจ้งให้ทราบว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือการวิจารณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพข่าวนั้น การแสดงความคิดเห็นพึงกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ และไม่มีพันธะกรณีอื่นใด นอกจากมุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณชน โดยไม่ยอมให้อิทธิพลอื่นใดมาครอบงำความคิดเห็น

(๘)      ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

(๙)       ต้องไม่นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีการประกาศโฆษณาที่แอบแฝงมาพร้อมกับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนทำให้ประชาชนหลงเชื่อในความเป็นข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

(๑๐)   ต้องระมัดระวังไม่นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ตนเองหรือพวกพ้องมีผลประโยชน์ทับซ้อน หากผู้ประกอบวิชาชีพข่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องแจ้งหรือรายงานพร้อมกับการนำเสนอหรือเผยแพร่ดังกล่าวทันที

(๑๑)  ต้องระมัดระวังการนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตแห่งขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรมอันดีงามของประชาชน มิให้ประชาชนหลงเชื่อในสิ่งที่งมงาย และไม่เป็นเครื่องมือในการนำเสนอหรือเผยแพร่สิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม หรือกระทบต่อสาธารณะ

หมวด ๓

จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว

ข้อ ๘ ต้องไม่อวดอ้างตำแหน่งหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว หรือตำแหน่งหน้าที่อื่นเพื่อเรียกร้องประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม

ข้อ ๙ ต้องไม่รับอามิส สินจ้าง หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องรอบด้าน

ข้อ ๑๐ ต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว

หมวด ๔

แนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว

ข้อ ๑๑ การได้มา หรือการนำเสนอหรือการเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พึงใช้วิธีการที่สุภาพ ซื่อสัตย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือมีความหมายที่ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น

ข้อ ๑๒ พึงไม่รับตำแหน่งหน้าที่ หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ถูกต้องครบถ้วน หรือเพื่อให้บุคคลใด ๆ ได้รับประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประกาศ ณ วันที่ ๘ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

(นายวสันต์ ภัยหลีกลี้)

ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓