Home » ความเป็นมา

ความเป็นมา

ความเป็นมา

            ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๖ ได้มีบทบัญญัติสนับสนุนการจัดตั้งกลไกควบคุมกันเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพทางด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พุทธศักราช ๒๕๕๑ มาตรา ๓๙ ยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม นับว่าเป็นการยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการวิทยุกระจายสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

            ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งในส่วนของเจ้าของสถานี ผู้ได้รับใบอนุญาต บรรณาธิการข่าว ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าฝ่ายข่าว หรือผู้มีอำนาจทำการแทนของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพฯ พร้อมทั้งลงนามท้ายบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายสียงและวิทยุโทรทัศน์ เรื่อง การจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยขึ้น

บทบาทหน้าที่และภารกิจ

            จากการสัมมนาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2553 ได้กำหนด บทบาทหน้าที่และภารกิจของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดังนี้

  • ด้านจริยธรรม

ตามธรรมนูญของสภาวิชาชีพฯ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 7 เรามีเรื่องการส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิยุและโทรทัศน์ให้มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิก ส่งเสริมเสรีภาพ และสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของพลเมือง ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

  • ด้านวิชาการ

1.ควรศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้กลไกควบคุมกันเองของสื่อมีประสิทธิภาพ

2.ควรศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีความชัดเจนว่า อะไรคือเรื่องที่สื่อควรหรือไม่ควรนำเสนอ  

3.ศึกษาการควบคุมสื่อในต่างประเทศ (น่าจะหมายรวมถึงการควบคุมโดยรัฐ เอกชน และการควบคุมกันเอง)

4.ศึกษาเรื่องกฎหมายสื่อ

5.ศึกษาเรื่องสิทธิประชาชนในการตรวจสอบสื่อ

  • การปฏิรูปสื่อ

การเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนหรือแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ

  • ด้านความร่วมมือในการทำงานกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ

1.ควรทำงานควบคู่ไปกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือองค์กรสื่อวิชาชีพอื่นๆ อย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นองค์กรระดับเดียวกัน และมีภารกิจที่ใกล้เคียงกัน โดยเน้นเรื่องจริยธรรมเป็นหลัก และเป็นองค์กรควบคุมกำกับกันเอง

2.เนื่องจากปัจจุบันมีการหลอมรวมสื่อ จึงควรทำงานให้สอดคล้องกับองค์กรกำกับดูแลกันเองของสื่อต่างๆ เช่น เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม หรือโซเซียล มีเดีย ที่เป็นองค์กรลักษณะคล้ายกัน

3.ในระยะยาวควรศึกษาเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ เพื่อทำงานร่วมกันหรือเป็นองค์กรเดียวเพื่อดูแลทุกสื่อ เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม นิวมีเดีย  โซเซียลมีเดียหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการดูแลซ้ำซ้อน

  • ด้านประชาสัมพันธ์

สร้างการรับรู้ต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อ ภาคสังคมและประชาชน ถึงบทบาทหน้าที่ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ

1. ในวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ควรมีแถลงการณ์ในนามของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และการเข้าไปมีบทบาทและส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ

2. เรื่องสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ควรมีการแสดงสัญลักษณ์ ให้เห็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สังคมรับรู้ความมีตัวตน พร้อมกับเป็นการประชาสัมพันธ์สถานีดังกล่าวว่าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งอาจจะต้องขอความร่วมมือกัน

  • ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อ

1.หลักประกันสำหรับวิชาชีพสื่อ ด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการสื่อควรมีกองทุนดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการผู้ปฏิบัติงาน

2.ติดตามแก้ไขกฎหมายและการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับวิชาชีพด้านสื่อ

3.ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและแนะนำด้านกฎหมายให้กับสื่อทั่วประเทศ โดยการจัดเวทีเสวนา “สื่อใช้สิทธิเสรีภาพแต่รู้เท่าทันกฎหมาย” และ จัดทำรายงานประจำปีเรื่องสิทธิ เสรีภาพของสื่อ

4.ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน…โดยในขั้นตอนการทำงานอาจเชิญที่ปรึกษาในแต่ละเรื่องมาให้ข้อมูลและแนวทางในการดำเนินการตามแต่กรณี อาทิ ผลกระทบจากกฎหมายที่ภาครัฐกำลังผลักดัน หรือ กฎหมายที่มีการประกาศบังคับใช้แล้ว แต่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ

5.ศึกษาวิจัยกรณีการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ และ แนวทางการแก้ปัญหา

6.รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

7.ตั้งรางวัลและกองทุนเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ อาทิ สื่อดีเด่น (องค์กร), นักข่าวดีเด่น (บุคคล)

8.สนับสนุนผลักดันให้เกิดสหภาพคนทำงานด้านสื่อและคณะกรรมการบริหารสหภาพในวงการการสื่อ

ยุทธศาสตร์

1.ยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรับ คือการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์

2.ยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุก คือการยกเรื่องที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมขึ้นมา

พิจารณา หรือหากมีการละเมิดจริยธรรมสื่อ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพฯ

แต่อาจให้ความเห็นทางด้านวิชาการออกไป โดยไม่ระบุชื่อ หรือตั้งตนเป็นคู่กรณี

เป็นเชิงศึกษาหรือวิพากษ์

3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริม

3.1ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพให้อยู่ในจริยธรรม โดยการเชิดชู ให้รางวัล การให้ความรู้ทางด้านต่างๆ 

3.2การประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงสมาชิก หรือองค์กรภายนอก ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของจุลสาร จดหมายข่าว หรือเว็บไซต์

3.3    การหางบประมาณ ในการบริหารองค์กร โดยหาแบบไม่ต้องพาคนอื่นมากนัก เพราะจะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน

4.ยุทธศาสตร์ด้านวิชาการ

4.1    การศึกษาแนวทางที่จะทำให้สภาวิชาชีพข่าวฯ มีความพร้อมด้านองค์กรและเงินทุน และมีบทบาทที่มีประสิทธิผลในการยกระดับจริยธรรมของสื่อ โดยศึกษากรอบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ฉบับใหม่ โดยศึกษาในประเด็นต่อไปนี้

      4.1.1สภาวิชาชีพข่าวฯ ควรใช้มาตรา 39 ของกฎหมายประกอบกิจการฯ อย่างไรในการเพิ่มบทบาทของตนในการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตนเองของสื่อ รวมทั้งการขอการสนับสนุนจาก กสทช

4.1.2 สภาวิชาชีพข่าวฯ ควรเตรียมการอย่างไรในการกำกับดูแลตนเองของสื่อให้เกิดการพัฒนาจริยธรรมที่ดี โดยกระบวนการระงับข้อพิพาทและเยียวยาผู้เสียหายตามมาตรา 40 ของกฎหมายประกอบกิจการฯ

4.2    การเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน และสนับสนุนการหาทุนของสภาวิชาชีพข่าวฯ เช่น การจัดสัมมนาแก่ประชาชนทั่วไป หรือ การจัดบรรยายแบบเข้มข้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ฉบับใหม่ โดยเก็บค่าเข้าฟังบรรยายจากผู้ฟังในกลุ่มเล็ก เช่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และคนในอุตสาหกรรมต่างๆ

4.3    การสร้างองค์ความรู้เพื่อให้แนวทางต่อสังคมในการทำให้สื่อมีบทบาทในการลดความขัดแย้งทางการเมือง และหลุดพ้นจากภาวะสุดขั้วสองด้านคือ การปิดกั้นสื่อโดยรัฐบาล และการเสนอข่าวสารที่มีลักษณะไม่รับผิดชอบต่อสังคม และขัดกับกฎหมายเช่น ปลุกระดมให้มีการใช้ความรุนแรง และก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อคนกลุ่มต่างๆ  โดยร่วมกับองค์กรด้านวิชาการ และหน่วยงานทางสังคมอื่นๆ

แผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และภาระหน้าที่

            ปีแรก(ทันที)

                        1.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปสื่อ

                        2.ศึกษาเรื่องกฎระเบียบและการประกาศบังคับใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุ

   และโทรทัศน์ไทย

3.ร่วมเวทีต่างๆ ในการส่งเสริมบทบาทสื่อภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง

4.คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประชุมร่วมกับกรรมการ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไตรมาสละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

5.คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เยี่ยมเยือนองค์กรสมาชิก

พร้อมทั้งนำธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ ประกาศ

ข้อบังคับต่างๆ ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไปมอบแก่สมาชิก

6.ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรสมาชิกจัดทำข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

7.การศึกษาแนวทางในการการจดทะเบียนสภาวิชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เป็นนิติบุคคล

8.การหาทุนสำหรับการบริหารจัดการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

9.การเพิ่มองค์กรสมาชิกแต่เน้นคุณภาพ

            ปีที่ 2

                        1.ร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กสุทช.

                        2.ผลักดันกฎหมายเพื่อการปฏิรูปสื่อทุกรูปแบบ

            ปีที่ 3

                        จัดตั้งกองทุนทุนเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ

คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เนื่องจากสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นองค์กรอิสระตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประกาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552