Home » ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วย วิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๕๓

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วย วิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๕๓

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ว่าด้วย  วิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๕๓

อาศัยอำนาจตามข้อ ๑๘(๔) ประกอบข้อ ๒๓ วรรคสอง แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในการประชุมครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๒ เดือน มกราคม พ.ศ.  ๒๕๕๓ มีมติเห็นชอบให้ตราข้อบังคับฉบับนี้ ดังมีข้อความต่อไปนี้

หมวด ๑

บททั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ.  ๒๕๕๓”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

“คณะอนุกรรมการ” หมายถึง คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามข้อบังคับนี้แล้วแต่กรณี

“สมาชิก” หมายถึง สมาชิกสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพข่าวและผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของสมาชิกด้วย

“จริยธรรมวิชาชีพ” หมายถึง จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์

“ผู้ร้องเรียน” หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากข้อความ เสียง หรือภาพ ที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวซึ่งดำเนินการโดยสมาชิก และรวมถึงพฤติกรรมของสมาชิกอันขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพด้วย

หมวด ๒

การร้องเรียน

ข้อ ๔ ผู้ร้องเรียนที่ได้รับความเสียหายจากข้อความ เสียง หรือภาพ ที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวที่ดำเนินการโดยสมาชิก หรือจากพฤติกรรมของสมาชิก หรือเห็นว่า ข้อความ เสียง หรือภาพที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวดังกล่าว เป็นการประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อสถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้นโดยตรงเสียก่อน เพื่อให้สถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้นดำเนินการบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี

ข้อ ๕ เมื่อผู้ร้องเรียนได้ดำเนินการตามข้อ ๔ แล้ว หากสถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้น ปฏิเสธหรือเพิกเฉยที่จะดำเนินการใด ๆ หรือมีการดำเนินการบรรเทาความเสียหายหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ไม่เป็นที่พอใจ หรือไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่สถานีหรือผู้ผลิตรายการได้รับหนังสือของผู้ร้องเรียนแล้ว ผู้ร้องเรียนมีสิทธิยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องเรียนได้ทราบความเสียหาย นั้น

เรื่องร้องเรียนต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของผู้ร้องเรียน มีรายละเอียดชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ร้องเรียน และชื่อของสมาชิก หรือชื่อรายการข่าว หรือวันเวลาการออกอากาศ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานแสดงตนที่ทางราชการออกให้ หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของผู้ร้องเรียน และหลักฐานประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

ข้อ ๖ การส่งเรื่องร้องเรียนทางไปรษณีย์ ให้ถือเอาวันที่ตราประทับไปรษณีย์ เป็นวันที่คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

การร้องเรียนโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยวิธีการอื่นใดนอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ร้องเรียนต้องลงลายมือชื่อในเรื่องร้องเรียนและส่งทางไปรษณีย์ถึงคณะกรรมการ ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งเรื่องร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่นใด และให้ถือว่าวันที่ส่งเรื่องร้องเรียนโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดดังกล่าว เป็นวันที่คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว

หมวด ๓

การรับเรื่องร้องเรียน

ข้อ ๗ หากเรื่องร้องเรียนชอบด้วยข้อบังคับตามหมวด ๒ ให้คณะกรรมการรับคำร้องเรียนไว้พิจารณาตามข้อบังคับนี้ เว้นแต่

(๑)       กรณีตามเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเด็ดขาดแล้ว หรือ

(๒)     กรณีตามเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเดียวกับเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่สุดแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งข้อกล่าวหา หรือ

(๓)      เรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องเรียนทราบเรื่อง หรือเกินเก้าสิบวันนับแต่วันเกิดเหตุ เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว

ข้อ ๘ ในกรณีเรื่องร้องเรียนมีข้อบกพร่อง หรือมีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจ หรือผิดหลงอันเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความไม่รู้หรือความเลินเล่อ หรือยังขาดรายละเอียดตามข้อบังคับนี้ หรือรายละเอียดยังไม่ชัดแจ้ง คณะกรรมการมีอำนาจขอให้ผู้ร้องเรียนแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องร้องเรียนให้ถูกต้องครบถ้วนหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำขอของคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการเห็นว่า เรื่องร้องเรียนไม่มีมูล ให้คณะกรรมการมีอำนาจไม่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

ข้อ ๙ กรณีคณะกรรมการมีมติไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียนทราบพร้อมทั้งแสดงเหตุผลแห่งการไม่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว

ผู้ร้องเรียนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลคำสั่งดังกล่าว

ข้อ ๑๐ หากคณะกรรมการเห็นว่า เรื่องร้องเรียนชอบด้วยข้อบังคับนี้และมีมูลหรือมีเหตุอันควรรับไว้พิจารณาต่อไป หรือกรณีไม่มีผู้ร้องเรียน แต่คณะกรรมการเห็นว่า ข้อความ เสียง หรือภาพ ของข่าวหรือรายการข่าวที่ปรากฏในรายการของสมาชิก หรือพฤติกรรมของสมาชิกใด เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนไว้เพื่อพิจารณา หรือส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อดำเนินการพิจารณาตามข้อบังคับนี้ หรือในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการพิจารณาตามข้อบังคับนี้ก็ได้

ข้อ ๑๑ เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้คณะกรรมการส่งสำเนาเรื่องร้องเรียนให้ผู้ถูกร้องเรียน พร้อมแจ้งสิทธิของผู้ถูกร้องเรียนในการยื่นคำแก้ข้อร้องเรียนภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาเรื่องร้องเรียนด้วย หรือภายในระยะเวลาที่ประธานกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ขยายระยะเวลาให้

หมวด ๔

คณะอนุกรรมการ

ข้อ ๑๒ ให้มีคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์” ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพข่าวหรือผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จำนวนสามคน และอนุกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรภายนอกอีกจำนวนสามคน เป็นอนุกรรมการ

ข้อ ๑๓ อนุกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรภายนอกต้องมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑)       ต้องเป็นองค์กรที่มีกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ หรือมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งมีกิจกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี

(๒)     ต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

ข้อ ๑๔ ให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ข้อ ๑๕ นอกจากพ้นตำแหน่งเนื่องจากครบวาระแล้ว คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)       ตาย

(๒)     ลาออก

(๓)      พ้นจากตำแหน่งกรรมการสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทยหรือพ้นจากการเป็นผู้แทนองค์กรภายนอก

(๔)      องค์กรที่ตนเป็นผู้แทนยุติบทบาทหรือดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ หรือกิจกรรมพัฒนาสังคม

(๕)      ให้นำข้อ ๑๕ (๖) (๗) (๘) และ (๙) แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒ มาใช้บังคับกับการพ้นตำแหน่งของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นผู้แทนองค์กรภายนอกด้วยโดยอนุโลม

ข้อ ๑๖ กรณีที่อนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งแทน และให้ผู้มาดำรงตำแหน่งแทนมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับผู้ที่ตนมาแทน เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวัน คณะกรรมการจะไม่แต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งแทนก็ได้ โดยให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระหรือมีการแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งแทน

ข้อ ๑๗ คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)       แสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานจากผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีอำนาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือเรียกพยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาและทำคำชี้ขาด

(๒)     การพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ให้ใช้วิธีการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงให้ปรากฏ โดยให้มีอำนาจสืบสวน สอบสวน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์

(๓)      ดำเนินการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทตามเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ระหว่างผู้ร้องเรียน สมาชิก ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว และผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

(๔)      ให้คำแนะนำ ปรึกษา หรือช่วยดำเนินการ หรือรับมอบหมายให้ดำเนินการส่งเสริมหรือพัฒนาการศึกษามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ

(๕)      ในกรณีจำเป็น คณะอนุกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เพื่อดำเนินการเรื่องใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๘ ให้ประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือผู้รับมอบหมาย มีอำนาจเรียกประชุมคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ตามที่เห็นสมควร

การประชุมคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการ จึงถือเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เป็นประธานในที่ประชุม หากประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์คนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุม ให้อนุกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่ง ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีอำนาจออกเสียงชี้ขาดได้หนึ่งเสียง

ข้อ ๑๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เพื่อดำเนินการสืบสวน สอบสวน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการ

ข้อ ๒๐ ให้นำข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ แห่งข้อบังคับนี้ มาใช้บังคับกับอำนาจหน้าที่และการประชุมของคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจโดยอนุโลม

ข้อ ๒๑ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน อาจถูกคัดค้านได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)       เป็นผู้ร้องเรียนในเรื่องนั้นเอง

(๒)     เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน

(๓)      เป็นญาติของผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าขั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามขั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวกันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

(๔)      เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน

(๕)      เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างของผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน

(๖)       รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่ร้องเรียน

(๗)      มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่ร้องเรียน

(๘)      มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน

(๙)       มีเหตุอื่นอันอาจทำให้การพิจารณาเสียความเป็นธรรม

ข้อ ๒๒ การคัดค้านคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานตามข้อ ๒๑ ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบเหตุแห่งการคัดค้าน โดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านว่า จะทำให้การพิจารณาไม่ได้ความจริง และความยุติธรรมอย่างไร ทั้งนี้ต้องยื่นคำคัดค้านก่อนการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจะแล้วเสร็จ

ให้คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน งดการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือการรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อได้รับคำคัดค้านดังกล่าวแล้ว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ และให้คำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด

การพ้นหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามวรรคสอง ไม่กระทบถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

หมวด ๕

การพิจารณาเรื่องร้องเรียนและจริยธรรม

ข้อ ๒๓ ให้คณะอนุกรรมการ นัดประชุมคณะอนุกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิธีรวบรวมพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดพร้อมและนัดพิจารณาแล้วแจ้งให้ผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และอนุกรรมการที่ไม่มาร่วมประชุมทราบ

ข้อ ๒๔ ในวันนัดพร้อมและนัดพิจารณาครั้งแรก ให้คณะอนุกรรมการ สอบถามผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนว่า มีพยานบุคคลกี่ปาก มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด จะนำพยานดังกล่าวมาพบเอง หรือต้องขอให้มีหนังสือเชิญมาให้สอบสวนข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานอื่นใดอีก ต้องให้เรียกพยานหลักฐานดังกล่าวจากผู้ครอบครองพยานหลักฐานดังกล่าวหรือไม่ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการนำพยานหลักฐานมาแสดงภายในกี่วันจึงจะแล้วเสร็จ โดยคณะอนุกรรมการจะทำการสอบสวนพยานผู้ร้องเรียนในวันดังกล่าวด้วยก็ได้ หรือกำหนดวันนัดสอบสวนข้อเท็จจริงจากพยานผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนให้ครบถ้วนตามที่ทั้งสองฝ่ายได้แถลง

ข้อ ๒๕ หากในวันนัดพร้อมและนัดพิจารณาครั้งแรก ผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียนทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มาพบคณะอนุกรรมการ และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ ให้คณะอนุกรรมการทำการสอบสวนพยานผู้ร้องเรียนในวันดังกล่าวได้เลย หรือจะกำหนดวันนัดสอบสวนพยานผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียนตามที่ปรากฏในสำนวนก็ได้ โดยแจ้งวันนัดสอบสวนข้อเท็จจริงให้ฝ่ายที่ไม่มาทราบด้วย

ข้อ ๒๖ ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนและพยานผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกร้องเรียนและพยานผู้ถูกร้องเรียนไม่มาให้สอบสวนข้อเท็จจริง โดยให้โอกาสพอสมควรแล้ว ให้คณะอนุกรรมการ มีคำสั่งว่า ผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียนไม่มีพยานมาให้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๗ ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนถึงแก่ความตายก่อนที่จะทำการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ ให้คณะอนุกรรมการ มีหนังสือแจ้งให้ทายาท ผู้จัดการมรดก ผู้ปกครองทรัพย์ หรือผู้สืบสิทธิของผู้ร้องเรียนเข้ามาแทนที่ผู้ร้องเรียน หากบุคคลดังกล่าวไม่ยอมเข้ามาแทนที่ผู้ร้องเรียนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้จำหน่ายคำร้องเรียนดังกล่าวออกจากสารบบคำร้องเรียน

หากคณะอนุกรรมการ เห็นว่า มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน จะทำการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในสำนวน และนัดสอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้องเรียน โดยไม่จำต้องเรียกบุคคลดังกล่าวในวรรคแรกเข้ามาแทนที่ผู้ร้องเรียนก็ได้

ข้อ ๒๘ การสอบสวนข้อเท็จจริง การแสวงหาข้อเท็จจริง และการรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่จำต้องทำต่อหน้าผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน

ข้อ ๒๙ หากคณะอนุกรรมการ เห็นว่า การแสวงข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้มาเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว มีอำนาจสั่งให้งดการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยนัดทำความเห็นต่อไปก็ได้

ข้อ ๓๐ คณะอนุกรรมการอาจตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม ในการนี้อาจรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๓๑ ในการสอบสวนพยานบุคคล ให้คณะอนุกรรมการเรียกพยานเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน ห้ามพยานบุคคลซึ่งยังไม่ได้ทำการสอบสวนอยู่ในที่สอบสวน

การสอบสวนพยานบุคคล ให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้ซักถามและบันทึกถ้อยคำพยาน แล้วอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง หรือจะให้พยานอ่านก็ได้ เมื่อพยานรับว่าถูกต้องแล้ว ให้พยานดังกล่าว ผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และคณะอนุกรรมการที่มาในวันดังกล่าวลงลายมือชื่อไว้

การแก้ไขข้อความที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ขีดฆ่าหรือตกเติม และคณะอนุกรรมการ ลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง

ข้อ ๓๒ ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียนร้องขอ และคณะอนุกรรมการอนุญาต ผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียน อาจส่งบันทึกถ้อยคำพยานเป็นหนังสือแทนการซักถามก็ได้ ทั้งนี้บันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าวต้องเป็นไปตามแบบที่คณะอนุกรรมการกำหนดโดยผู้ร้องขอต้องส่งต่อคณะอนุกรรมการเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและพยานนั้นต้องมาให้คณะอนุกรรมการซักถามเพิ่มเติม มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่มีถ้อยคำพยานดังกล่าว

ข้อ ๓๓ ในกรณีที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควร อาจใช้การบันทึกถ้อยคำพยานด้วยการบันทึกเสียง หรือบันทึกภาพและเสียง โดยให้มีการถอดบันทึกเสียงดังกล่าวและให้ถือเอาการถอดบันทึกเสียงเป็นถ้อยคำพยานของพยานดังกล่าวด้วย

ข้อ ๓๔ การนำเอกสาร หรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ให้คณะอนุกรรมการ บันทึกลำดับเลขหมายของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ และบันทึกแยกเป็นเอกสารของผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกร้องเรียน หรือคณะอนุกรรมการ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อคณะอนุกรรมการ และวันที่ยื่นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว

ข้อ ๓๕ ในกรณีที่ผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกร้องเรียน โต้แย้งว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยข้อบังคับนี้ ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำโต้แย้งดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนการสอบสวนที่มีการโต้แย้ง หรือยกคำโต้แย้งดังกล่าวก็ได้ โดยให้แสดงเหตุผลการวินิจฉัย และรวมคำโต้แย้งดังกล่าว หรือบันทึกคำโต้แย้งไว้ในรายงานการสอบสวน

ข้อ ๓๖ ในวันประชุมคณะอนุกรรมการ วันนัดสอบสวน หรือวันนัดพิจารณาใด ๆ ให้คณะอนุกรรมการจดบันทึกในรายงานการสอบสวนไว้ โดยให้คณะอนุกรรมการ ผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนที่มาร่วมในการประชุมหรือการสอบสวนลงลายมือชื่อไว้

รายงานการสอบสวนต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑)       เลขลำดับที่รับเรื่องร้องเรียน

(๒)     ชื่อผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน

(๓)      วัน เวลา และสถานที่ที่คณะอนุกรรมการทำการสอบสวน

(๔)      ข้อความโดยย่อเกี่ยวกับเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่นๆ เช่น ข้อแถลงของผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการ เป็นต้น

ข้อ ๓๗ เมื่อคณะอนุกรรมการได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้นัดประชุมเพื่อทำความเห็นเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป

ความเห็นของคณะอนุกรรมการต้องประกอบด้วย สรุปเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ คำแก้เรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์  ข้อเท็จจริงจากการสอบสวน ความเห็นของคณะอนุกรรมการโดยแสดงเหตุผล โดยคณะอนุกรรมการลงลายมือชื่อไว้

ข้อ ๓๘ ให้นำหมวด ๕ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนและจริยธรรมมาใช้กับการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการโดยอนุโลม

หมวด ๖

การพิจารณาของคณะกรรมการ

ข้อ ๓๙ ในกรณีผู้ร้องเรียนยื่นคำร้องขอถอนเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ให้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอถอนเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ก่อนว่าจะอนุญาตหรือไม่

ข้อ ๔๐ หากคณะกรรมการเห็นว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หรือข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนยังไม่เพียงพอ หรือมีพยานหลักฐานอื่นที่ต้องทำการสอบสวน คณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนการสอบสวนดังกล่าว และย้อนสำนวนให้คณะอนุกรรมการดำเนินการให้ถูกต้องหรือสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้

หากคณะกรรมการเห็นว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาต่อไป ในการนี้ คณะกรรมการอาจมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ยกเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ หรือมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเรียนเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพก็ได้

ข้อ ๔๑ ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเรียนเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพ คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑)       แจ้งเป็นหนังสือให้สถานีหรือผู้ผลิตรายการที่ถูกร้องเรียน เผยแพร่ข้อความ เสียงหรือภาพตามที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ได้รับความเสียหายต้องการภายในระยะเวลาและช่วงเวลาที่เหมาะสมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยนั้น โดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและผู้ร้องเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

(๒)     ในกรณีที่ผู้ประพฤติผิดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังต้นสังกัดของผู้นั้น เพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยทราบโดยเร็ว

(๓)      ในกรณีที่เห็นสมควร สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยอาจตักเตือน หรือตำหนิ และเผยแพร่คำวินิจฉัยนั้นต่อสาธารณะด้วยก็ได้

ข้อ ๔๒ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาตามข้อ ๔๐ และข้อ ๔๑ แก่ผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียน โดยแจ้งสิทธิของผู้ร้องเรียนหรือผู้ถูกร้องเรียนที่จะอุทธรณ์คำสั่งต่อประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเป็นหนังสือภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

ข้อ ๔๓ หากประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเห็นว่า คำอุทธรณ์มีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจ ฟุ่มเฟือย เสียดสี ไม่สุภาพ หรือบกพร่อง ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ หรือแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ ให้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

ข้อ ๔๔ เมื่อประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป และคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการก็ได้

คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งยืนตามคำสั่งเดิม หรือกลับหรือแก้ไขคำสั่งเดิมได้ โดยคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ดังกล่าวให้เป็นที่สุด

หมวด ๗

บทเฉพาะกาล

ข้อ ๔๕ ให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการก่อนข้อบังคับฉบับนี้ เป็นคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ตามข้อบังคับนี้ โดยให้มีวาระในตำแหน่งเป็นเวลาสามปีตามวาระของคณะกรรมการชุดแรก

ประกาศ ณ วันที่ ๘ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

(นายวสันต์ ภัยหลีกลี้)

ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย