Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

ดิจิทัลทีวีช่องธุรกิจ(3) : ใบสั่ง? ทุนใหญ่-รายเก่ายึด3ช่อง

Author by 19/02/13No Comments »

มิติการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นภาคพื้นดินในระบบอะนาล็อกไปสู่ “ระบบดิจิทัลทีวี” มีประเด็นเชิงผลกระทบทาง “สังคม” มากกว่าการออกใบอนุญาติกิจการโทรคมนาคมโครงข่ายโทรศัพท์ 3G ที่แม้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจระดับแสนล้านบาท แต่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้น้อยกว่ามาก ผลสะเทือนทางสังคมที่เกิดความสับสนอลหม่านทางความคิด ภายหลังการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของ “สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีมากกว่า 200-300 ช่อง และสถานีวิทยุชุมชนอีกกว่า 7,000 สถานี น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทยที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก แม้ว่าความแตกแยกทางความคิดของกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้ “คลายตัว” ลงไประดับหนึ่งไม่มีการปะทะกันบนท้องถนนให้เห็นบ่อยนัก เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ใช้อาวุธ “ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม” เป็น “เครื่องมือ” ในการโฆษณาชวนเชื่อ, ใส่ร้ายป้ายสีกันได้อย่าง “เท่าเทียม” สมน้ำสมเนื้อ “มึงด่ากู-กูด่ามึง” จนทำให้สังคมได้เริ่มแยกแยะออกได้ว่า “ช่องทีวีดาวเทียม” ช่องไหนอยู่ในสังกัดกลุ่มการเมืองใด ระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล-ข้อเท็จจริง-ความจริงควรจะเชื่อได้แค่ไหน และควรจะกดรีโมทผ่านไปโดยไม่แยแส ไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้ไม่ยาก ผมจึงไม่ค่อยกังวลว่า กลุ่มการเมือง, กลุ่มผลประโยชน์, กลุ่มธุรกิจไหนจะสามารถถือครอง หรือได้ “ใบอนุญาต” การประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (ทีวีดาวเทียม) จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปกลุ่มละกี่ช่องกี่ใบอนุญาต เพราะช่องความถี่บนดาวเทียมมีไม่จำกัด ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของทีวีดาวเทียมได้ไม่ยาก ทำให้กลไกตลาดเสรีใน “ระบบทุน” สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์พอสมควร แต่เป็นห่วงการประกอบกิจการโทรทัศน์แบบใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในปัจจุบัน ยังอยู่ในยุค “กึ่งผูกขาด” ของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีภาคพื้นดิน 6 ช่อง ที่เป็นสื่อเดียวที่สามารถเข้าถึง “ครัวเรือนไทย” มากที่สุด 22 ล้านครัวเรือน หรือเกือบ 100 % ทำให้ “โทรทัศน์” กลายเป็น “สื่อทรงอิทธิพล” มากที่สุด ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแทบทุกเรื่อง (เหตุการณ์การเมือง, พฤติกรรมทางสังคม, วิถีชีวิต, การคุกคามทางวัฒนธรรม ฯลฯ) มายาวนานกว่า 50 ปี แม้ว่าผลสำรวจของบริษัทโฆษณาจะออกมาบอกว่า “คนดูโทรทัศน์” เริ่มใช้เวลาอยู่หน้าจอน้อยลง เพราะสื่อใหม่ๆ ได้แย่งความสนใจไปมากขึ้นๆ แต่สื่อโทรทัศน์ยังน่าจะยังมี “อิทธิพล” ในระดับสูงไปไม่น้อยกว่าอีก 10-20 ปี การเปลี่ยนผ่านจากยุคโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก ที่มีอยู่แค่ 6 ช่อง ไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล ที่ในช่วงแรก กสทช. จะจัดสรรและประมูลให้ใบอนุญาต 48 ช่อง และช่วงที่สอง อาจจะเพิ่มจำนวนช่องอีกเท่าตัว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการ “ปรับดุลอิทธิพล” สื่อโทรทัศน์ของไทย ให้ลดการผูกขาดไปสู่การแข่งขันเสรี และประชาชนมีทางเลือกในการรับสื่อโทรทัศน์มากกว่าเดิม กสท.ไม่ควรจะเร่งรีบ, อย่ารวบรัด แต่ควรจะเริ่มจากสร้างกลไกให้ “สังคม” ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการ “ออกแบบ” การจัดสรรคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงให้เสร็จก่อน กิจการโทรทัศน์ประเภทสาธารณะเป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก เพราะกสท. ไม่เคย “ออกแบบ” ในรายละเอียดว่า 12 ช่อง ทีวีสาธารณะควรจะมี “หน้าตา” อย่างไร เพื่อทำให้สังคมได้ประโยชน์จากการจัดสรรคลื่นความถี่ ในระบบ Beauty Contest ครั้งนี้ กสท. ยังไม่เคยจัดทำ “ประชาพิจารณ์” แม้แต่ครั้งเดียว เพื่อเป็นกลไกให้ทุกภาคส่วนของสังคม ได้เข้ามาร่วม “ออกแบบ” ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ที่ กสท. จะเร่งรีบให้ยื่นคำขอภายในเดือนมี.ค.นี้แล้ว แต่กิจการโทรทัศน์ประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง ที่แยกเป็นช่องรายการเด็ก-เยาวชน-ครอบครัว 5 ช่อง, ช่องข่าว 5 ช่อง และช่องวาไรตี้ 14 ช่อง (SD 10 ช่อง, HD 4 ช่อง) กลับเป็นเรื่องน่าวิตกยิ่งกว่า และจะมีผลกระทบต่อความเป็นไปของสังคมในระยะยาว มากกว่าทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ที่ไม่ค่อยมีพลัง ในเชิงธุรกิจไปขับเคลื่อนมากนัก ผมเป็นตัวแทนของเนชั่นกรุ๊ป และเป็น 1 ใน 12 รายใหม่ ที่ กสท. “เลือกเชิญ” ไปร่วมประชุมเสนอความเห็นในประเด็น “ข้อกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ด้วยเหตุผลว่า 12 รายนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะเข้าประมูลดิจิทัลทีวีได้ “รายใหม่” 12 กลุ่ม ประกอบด้วย แกรมมี่, อาร์เอส, เวิร์คพ้อยต์, กันตนา, ทรู, อินทัช, เนชั่น, สปริงส์นิวส์, วอยซ์ทีวี, มันนี่แชนนัล, นสพ.เดลินิวส์, นสพ.ไทยรัฐ ในขณะที่ในห้องประชุมวันนั้น กลับมีตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 ช่อง ที่เรียกกันว่า “รายเก่า” นั่งกันพร้อมหน้า ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ อยู่แล้ว ทำไม กสท. ไปสรุปเองว่า เลือกเชิญ 12 รายใหม่ ที่มีศักยภาพในการประมูลดิจิทัลทีวี ในขณะที่มี “รายใหม่” อีกหลายรายที่อยู่ในวงการโทรทัศน์ ที่มีศักยภาพไม่น้อยเช่นกัน แต่ไม่ได้รับเชิญจากกสท. เช่น กลุ่มสยามกีฬาที่มีช่องกีฬาหลายช่อง, กลุ่มทีวีพูลที่มี 2 ช่อง กับรายการทีวีอีกมากมาย , กลุ่มอมรินทร์, กลุ่มเอ็มวี ที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมมากกว่า 20 ช่อง , กลุ่มทีนิวส์, กลุ่มเอ-พลัส, กลุ่มเน็กซ์สเตป, กลุ่มCTH, กลุ่มนสพ.มติชน, กลุ่มนสพ.โพสต์, กลุ่มเจเอสแอล, กลุ่มรักลูก, กลุ่มวีอาร์วัน, กลุ่ม LIVE ฯลฯ หลายคนที่ถูกเรียกว่าเป็น “รายใหม่” รู้สึกได้ถึงการปฏิบัติ “อย่างไม่เป็นธรรม” ที่ กสท. เรียกว่า “รายใหม่” ที่ล้วนแต่เป็น “ผู้เล่นใหม่” ในกลุ่มโทรทัศน์ดาวเทียม กับ “รายเก่า” ที่เป็น “ผู้เล่นเก่า” ในกลุ่มโทรทัศน์ฟรีทีวีภาคพื้นดิน ที่มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ( Conflict of Interest) โดยตรง ได้นั่งในคณะอนุกรรมการฯ ที่พวกเขาคงไม่ต้องการให้ “รายใหม่” ได้เข้ามาแข่งขันในสนามใหม่ “ดิจิทัล” ได้ง่ายนัก ยิ่งได้อ่าน “เอกสารประกอบการประชุม” ที่แจกในห้อง ลำดับความเป็นมาของประเด็นการพิจารณา กำหนดเพดานจำนวนช่องที่ประมูล นั่งประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น และฟังความคิดเห็น ของกรรมการ กสท. ที่โต้แย้งกลับไปมา ยิ่งรู้สึกได้ว่า กสท. บางคนกำลังพยายาม “ตั้งธง” ให้ “รายเก่า” ที่มีความได้เปรียบ ในเชิงทุน-ฮาร์ดแวร์สถานี และการยึดครองปริมณฑลเก่า “อะนาล็อค” ไปจนกว่าจะหมดสัมปทานอีก 8-9 ปี คู่ขนานไปกับปริมณฑลใหม่ “ดิจิทัล” มีโอกาส “ครอบครอง” ช่องดิจิทัลทีวีแบบเบ็ดเสร็จ รายละ 3 ช่อง ในทุกประเภทคือ ช่องเด็ก-ครอบครัว, ช่องข่าว (ข่าวและสาระต้องไม่น้อยกว่า 70 %), ช่องวาไรตี้ (ข่าวและสาระต้องไม่น้อยกว่า 25 %) ด้วยเหตุผลค่อนข้างพิลึกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ “รายใหญ่” ที่มีศักยภาพในการประกอบกิจการ สามารถผลิตรายการที่มีคุณภาพ ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า “รายเล็ก” ที่อาจจะประสบปัญหาการแข่งขันในอนาคตได้ จะไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมนี้ ถ้าหากหลักเกณฑ์ของ กสท. ออกมาเช่นนี้ จะทำให้ผลการประมูลออกมาเป็น “รายใหญ่” 5 ราย ชนะประมูล 3 ช่อง ในทุกประเภท รายกลาง-เล็กอีกจำนวน 9 ราย จะได้ช่องวาไรตี้ที่เหลือรายละ 1 ช่อง เท่านั้น รวมผู้เล่นในลีกดิจิทัลทีวี 14 ราย ลองจินตนาการว่ารายใหญ่ 5 ราย (แน่นอนว่าจะต้องเป็นรายเก่า 3 ราย กับรายใหม่ที่มี “ทุนหนา”) ที่ได้ช่องดิจิทัลทีวีรายละ 3 ช่อง จะเริ่มต้นบนความได้เปรียบมหาศาล ในการบริหาร “ต้นทุน” การผลิต และออกอากาศได้เฉลี่ยต่อช่องต่ำกว่า “รายใหม่” อีก 9 รายที่มีแค่รายละ 1 ช่อง ที่แบกต้นทุนผลิต และลงทุนแบบเต็มช่อง แล้วไม่สามารถเกลี่ยเงินลงทุน และเฉลี่ยค่าใช้จ่ายไปอีกช่องได้เลย อยากให้ กสท. พิจารณาให้เกิดความหลากหลาย และมีผู้เล่นมากขึ้น คือ การกำหนดเพดานผู้ประมูลไม่เกิน 2 ช่องต่อราย และกำหนดเงื่อนไข ห้าม “ช่องข่าวคู่ช่องวาไรตี้” เพื่อไม่ให้ผู้เข้าประมูลแต่ละรายได้สามาารถเข้าถึง “เค้กก้อนใหญ่” หรืองบโฆษณาชิ้นใหญ่ 95 % (งบโฆษณารายการบันเทิงวาไรตี้ 65 %, ข่าว 30 % และเด็ก 5 %) หลักเกณฑ์แบบนี้ จะทำให้มี “ผู้เล่น” ในลีกดิจิทัลทีวี อย่างน้อย 19 ราย จะมี “รายกลาง” จำนวน 5 ราย ถือครองรายละ 2 ช่อง (ช่องข่าว กับ ช่องเด็ก หรือ ช่องวาไรตี้ กับ ช่องเด็ก) และรายเล็กอีก 14 ราย ถือครองรายละ 1 ช่อง ลองเปรียบเทียบ วิธีแรกเพดาน 3 ช่อง จะมีแค่ผู้เล่นรายใหญ่ 5 ราย กับผู้เล่นรายเล็ก 9 รายๆ ละ 1 ช่อง แทบจะมองไม่เห็นหนทางว่า รายเล็ก จะไปต่อกรทางธุรกิจกับความได้เปรียบใน Economy of Scale และพลังของกลยุทธ์การตลาดของรายใหญ่ 3 ช่อง ได้อย่างไร วิธีที่สอง กำหนดเพดาน รายละไม่เกิน 2 ช่อง และข้อห้ามจับคู่ช่องข่าว กับ วาไรตี้ จะทำให้มีผู้เล่นรายกลางถือครอง 2 ช่อง 5 ราย และรายเล็ก 14 ราย ถือครองรายละ 1 ช่อง เมื่อเริ่มต้นด้วยการถือครองจำนวนช่องไม่ต่างกันมาก การแข่งขันในระยะยาว อาจจะทำให้รายเล็กถือครอง 1 ช่อง มีประสิทธิภาพมากกว่ารายกลาง 2 ช่อง ก็เป็นไปได้ กสท. ไม่ควรคิดว่าตัวเองมีหน้าที่แค่จัดการ “ประมูลดิจิทัลทีวี” ให้จบๆ ไป แต่ควรจะมองไปถึงอนาคต 5 ปี – 10 ปี – 15 ปี จนหมดอายุใบอนุญาตว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ที่อุตส่าห์ต่อสู้มานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ, ลดการผูกขาด ฯลฯ มองเห็นความพยายามเร่งรัด และรวบรัดของ กสท. บางท่านเพื่อเร่งออกหลักเกณฑ์แบบ “หักดิบ” ที่มองได้สถานเดียว คือ ต้องการเปิดทาง “รายใหญ่” สามารถถือครองจำนวน 3 ช่อง โดยยังไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางเพียงพอ ถือว่า กสท. จงใจจะเปิดทางให้ “ระบบผูกขาด” คืนชีพ มาครอบงำวงการโทรทัศน์ของไทย ในระบบดิจิทัลอีก ผมยังเชื่อมั่นในเกียรติประวัติ และความสุจริตซื่อตรงของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. ที่แสดงความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อให้บรรลุภารกิจของการจัดตั้ง กสทช. ให้เข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่าทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย หรือข้อครหาว่า ท้ายที่สุดแล้ว การได้เข้ามาเป็น กสทช. ก็ไม่พ้นต้องอยู่ใต้ “อาณัติ” หรือ จำเป็นต้อง “ชดใช้” ทำตาม “ใบสั่ง” ของผู้มีอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์เดิมๆ ให้ระบบผูกขาด ในวงการโทรทัศน์ ที่ทำให้สังคมไทย “บิดเบี้ยว” มานานกว่า 50 ปีแล้ว

ที่มา :  http://www.bangkokbiznews.com/