Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

กสทช. นักวิชาการ นักวิชาชีพ ร่วมสะท้อนมุมมองความคิดเห็น อนาคตกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภายใต้แผนแม่บท

Author by 25/05/12No Comments »

(23 พ.ค.55) คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา จัดสัมมนา “อนาคตสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสาธารณะไทย จะรุ่งหรือร่วง ภายใต้แผนแม่บท” โดยวิทยากรได้ร่วมกันอภิปรายเรื่อง  อนาคตกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภายใต้แผนแม่บท ดังนี้

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์  กสทช.และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ “สำหรับเจ้าของคลื่นความถี่รายเก่า ที่หวังว่าจะได้คลื่นเดิมนั้น ถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมก็คือคงไม่ต้องมี กสทช. เนื่องจาก กสทช.เองคงตอบไม่ได้ว่าจะเป็นสัญญาณแบบเดิมได้หรือไม่ เพราะต้องตอบลักษณะภาพรวมการให้ข้อมูลและรายละเอียดด้านคลื่นความถี่ และตามตัวบทกฎหมาย โดยเจ้าของคลื่นความถี่ทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่ กสทช. เอง ก็ต้องคืนคลื่นเข้ามาร่วมจัดสรรด้วยเช่นกัน แต่ละหน่วยที่บริหารคลื่นความถี่ค่อนข้างใหญ่ โดยพิจารณาความจำเป็น ซึ่งจะมีการจำกัดความคำว่า ความจำเป็น ให้ละเอียด ไม่มีการพิจารณาให้รายกรณี โดยกติกาเหล่านี้จะเสร็จภายใน 6 เดือน โดยในต้นปีหน้าจะได้เห็นการพิจารณาคลื่นความถี่ตามแผนแม่บทอย่างแน่นอน”

กรรมการ กสทช. กล่าวอีกว่า ตอนนี้แค่เริ่มต้นพูดถึงระบบดิจิตอลก่อน ส่วนเรื่องการยุติระบบอนาลอกก็รอให้ผ่านไปถึง 2558 เมื่อได้เห็นระบบดิจิตอลแล้ว จึงตัดสินใจที่จะยุติหรือไม่ และจำนวนเป็น 100 ช่องไม่ได้เป็นปัญหาด้านทางเลือก เพราะตัวเลือกยิ่งมากยิ่งดีต่อผู้ชม และวันหนึ่งจะถึงจุดสมดุลของตัวมันเอง ซึ่งผู้ผลิตก็ต้องไม่ผลิตตามใจตนเอง แต่ต้องผลิตให้ดึงดูดต่อผู้ชมและมีประโยชน์

“ทุกอย่างจะมีการศึกษามาอย่างดี เรื่องมาตรฐานที่เราเลือกจะต้องไปกับมาตรฐานโลก เพราะต้องป้องกันการอาจถูกลอยแพจากผู้ผลิตระบบดิจิตอล นั่นก็หมายความว่าควรเป็นไปในทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ ถ้ามีการผิดพลาดจะได้มีหนทางแก้ไขมากขึ้น” และว่า การดูแลกิจการโทรคมนาคมถือเป็นสาธารณูปโภคที่เป็นพื้นฐานการติดต่อสื่อสาร และเอกชนต้องการลงทุนมาก โดยจะส่งเสริมการลงทุนจากเอกชนกับต่างประเทศ ซึ่งต่างจากกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อย่างสิ้นเชิง เพราะทุกคนยกการ์ดสูง การให้โอกาสต่างประเทศเข้ามาแล้วจะเกิดการครอบงำ เป็นเรื่องสังคมและวัฒนธรรมจากต่างชาติ

ด้าน นายธีระพงศ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ แต่ทั้งนี้ก็เนื่องจากให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง แม้การดำเนินการจะใช้งบประมาณของชาติ แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามาก เมื่อเทียบกับรายได้ของเอกชนที่มีการขายโฆษณา และส่วนใหญ่ก็เป็นไปในกิจการสาธารณะเท่านั้น

“แม้แต่หน่วยงาน กบว. ของกรมประชาสัมพันธ์ ได้โอนย้ายกิจการไปสังกัด กสทช. ทั้งนี้ได้ศึกษาวิเคราะห์หน้าที่บทบาท กรมยืนยันที่จะใช้สื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะและ พัฒนาการใช้สื่อใหม่ มีการพูดคุยแนวทางการดำเนินงานกับ กสทช. และวางเป้าหมายในการทำงานและจะขอคำแนะนำ กสทช. อีกครั้ง เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนขึ้น การมีแผนแม่บทถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่อย่างน้อยก็มี แต่สำหรับกรมประชาสัมพันธ์ ไม่เร่งร้อน ขอแค่สามารถผลิตงานให้ครอบคลุมข้อมูลข่าวสารได้ ฝากเตือนไปยังหน่วยราชการที่จะขอตั้งสถานีของตนเอง ให้ลองเปลี่ยนแนวคิดมาใช้บริการกับกรมประชาสัมพันธ์เพียงแห่งเดียวร่วมกันดีกว่า”

ในส่วนผู้ประกอบการเอกชน นายศุทธิชัย บุนนาค กรรมการบริหาร บริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าโดยส่วนตัวให้ความสำคัญทางด้านเทคโนโลยีที่เลือกในการวางโครงข่าย เช่น จะมีการเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอล ขณะข้อมูลที่ไทยเรามียังไปไม่ถึงเกี่ยวกับระบบนี้ แต่ทราบว่า กสทช.เลือกระบบของยุโรป แต่จะต้องมีการบอกข้อดีข้อเสียให้ทราบด้วยว่าเป็นอย่างไร แล้วหลังจากการมีระบบนี้แล้วจะพ้นจากการถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการ และสอดคล้องกับกิจการในอนาคตหรือไม่ บริษัทเดียวอาจจะมีหลายสื่อหลายช่องทาง ต้องดูว่า กสทช. ว่าจะอนุญาตหรือไม่

“คิดว่าอนุญาตเพราะเทคโนโลยีก้าวไปไกลแล้ว คนดูทีวีได้ดูแต่รายการที่สถานีส่งมาให้ แต่ต่อมา ผู้ชมอยากชมรายการในเวลาที่สะดวกของตนเอง จึงมีการดูย้อนหลัง หรือการเลือกชมรายการได้ ซึ่งก็จะต่อยอดกับการการเกิดโมบายล์ทีวี ที่เป็นห่วงคือ การเลือกผู้เข้ามาให้บริการที่จะมีการลดการผูกขาดมากน้อยแค่ไหน จะอนุญาตให้มีการถือครองข้ามสื่อได้อีกหรือไม่ ถ้าทำได้ คิดว่า กสทช. ต้องเข้ามาดูแล ระเบียบ-ราคาต้องมีมาตรฐาน”

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า อนาคตสถานีโทรทัศน์รายเก่าอาจเดินเส้นทางเดียวได้ แต่ธุรกิจเกิดใหม่อาจเดินบนเส้นทางธุรกิจเส้นทางเดียวไม่ได้ ผู้ประกอบการจะเติบโตได้เมื่อมีการแข่งขันอย่างยุติธรรม แต่ว่าธุรกิจคอนเทนต์อาจจะออกมาผลิตรายการได้เป็นของตนเอง ถ้าอย่างสปริงก็อาจจะหันมาทำสื่อประเภทดิจิตอลเพรส ซึ่งก็จะต้องหาแนวทางต่อไป การมีแผนแม่บทนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของการปฏิบัติที่จะนำมาใช้หลังจากนี้