Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

อำนาจมืดเหนือเมฆ

Author by 5/02/13No Comments »

อำนาจมืดเหนือเมฆ
ที่มา http://bit.ly/UXroz9

โดย..ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย , วิรวินท์ ศรีโหมด  www.posttoday.com

“การเซ็นเซอร์ตัวเองนี่มันเป็นความจำเป็นของนักธุรกิจ คือ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามีแรงข่มขู่ยังไง แต่รู้ว่าในที่สุดก็จะขอหยุดดีกว่า เพื่อได้ทำงานอย่างอื่นต่อไปกลับกันถ้ามี กสทช.มาดูแลโดยไม่มีระบบสัมปทานจากรัฐมาคอยบีบ ก็จะได้เห็นช่อง 3 หรือช่องอื่นๆกล้าทำละครวิจารณ์สังคมและกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรให้กับสังคมมากขึ้น”


ควรแบนนักการเมือง
จนถึงทุกวันนี้เชื่อว่าสังคมยังไม่หายสงสัยว่าเหตุใดละครเรื่อง”เหนือเมฆ 2 : มือปราบจอมขมังเวทย์” นำเสนอเนื้อหาการทุจริตของนักการเมือง หลังต้องยุติการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ลงกลางคันตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่เหลือเนื้อหาเพียงไม่กี่ตอนละครก็จะจบบริบูรณ์

มีเพียงคำชี้แจงจากทางสถานีผ่าน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่ามีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ว่าด้วยผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดี

คำชี้แจงดังกล่าวยิ่งทำให้แฟนละครเกิดความสงสัยมากขึ้นไปอีกว่าเหตุใดละครหลังข่าวเรื่องนี้ถึงเป็นภัยต่อประเทศชาติ หรือการเซ็นเซอร์ตัวเองของช่อง 3 เป็นไปเพื่อความมั่นคงของสถานีกันแน่

โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสนทนากับ “สมเกียรติ อ่อนวิมล” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนซึ่งเคยร่วมงานกับทางช่อง 3 เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีผ่านการจัดรายการข่าว เพื่อหาคำตอบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้ผมก็ผูกพันกับช่อง 3 มาร่วมงานด้วยกว่า10 ปีแล้ว จะลาออกก็ไม่ให้ออก ผมรู้จักช่อง 3 มาตั้งแต่สมัยผมอยู่ อสมท เมื่อ30 กว่าปีก่อน ช่อง 3 เป็นช่องธุรกิจบันเทิงโดยแท้ ธุรกิจบันเทิงจะไม่ทำอะไรที่มีความเสี่ยงสูง และไม่ได้ทำข่าวสารอะไรอย่างจริงจังมากนัก จนกระทั่งมาอยู่ในช่วง 10 ปีมานี้เริ่มมีนิยามว่าครอบครัวข่าวขึ้นมา…

…ช่อง 3 อยู่ได้ด้วยสัมปทานระยะสั้น มันก็ต้องอะลุ่มอล่วยกัน อันนี้มันเป็นธรรมดา อั้นนี้ต้องเข้าใจดังนั้นงานข่าวก็จะทำเต็มที่เท่าที่ทำได้ แต่จะไม่สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลผู้มีอำนาจ เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนต่างมีอำนาจที่จะให้หรือไม่ให้สัญญาต่อ อย่าลืมว่ารัฐบาลไม่มีความเป็นประชาธิปไตยกับนักธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะช่อง 3 หรือที่อื่นๆ

…คุณจะเห็นว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาช่อง 3 จะเข้ากับทุกรัฐบาลได้เสมอ ได้ไม่ได้ก็จะเข้าเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ สมัยผมเป็นนักข่าว เป็นผู้ประกาศข่าวร่วมกับ อสมท เมื่อเกือบ30 ปีก่อน มีช่วงหนึ่งเป็นช่วงที่สัมปทานของช่อง 3 ใกล้จะหมด ก็จะมีใครๆวิ่งเข้ามาหารัฐบาลเพื่อให้ได้สัมปทานแทนทำให้ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามผู้มีอำนาจตลอด”อาจารย์สมเกียรติปูพื้นให้เห็นถึงธรรมชาติของช่อง 3

ด้วยท่อน้ำเลี้ยงของช่อง 3 ยังต้องผูกกับสัมปทานรัฐ ทำให้นักวิชาการอิสระรายนี้ไม่รู้สึกแปลกใจทำไมละครเหนือเมฆที่มีเนื้อหาสะท้อนการทุจริตคอร์รัปชันถึงถูกสั่งแบนกะทันหัน โดยขยายความไว้อย่างน่าสนใจ

“ละครที่ผ่านมาของช่อง 3 จะทำเนื้อหาที่แสดงถึงความมีคลาสเพื่อขายคนดูที่มีฐานะทางการศึกษามากกว่าถ้าเทียบกับช่องอื่นแต่ก็เป็นละครที่จะเน้นความสนุก เพลิดเพลิน แบบว่าดูแล้วไม่ต้องเชื่อหรอกว่าเป็นจริงตามนั้น ประเภท สวย หล่อ รวย เลว อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ไม่มีอยู่ในโลกจริงโลกนี้…

…เพราะฉะนั้นถ้าเวลามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องบันเทิงอย่างละครเนี่ย ช่อง 3 ก็เหมือนเวลาทำข่าวนั่นแหละ ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ยังไงก็หลบให้ เพราะเขาอยู่ได้ด้วยสัมปทานรัฐ จึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง”

ในประเด็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง อาจารย์สมเกียรติ คิดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ห้ามอยู่แล้ว ไม่ให้รัฐบาลเข้าไปตรวจรายการต่างๆ ก่อนออกอากาศหรือก่อนตีพิมพ์ไม่ได้ แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งกรณีของละครเหนือเมฆคงมีแรงกระตุ้นมากระชากอยู่ข้างหลัง

“การเซ็นเซอร์ตัวเองนี่มันเป็นความจำเป็นของนักธุรกิจ คือ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามีแรงข่มขู่ยังไง แต่รู้ว่าในที่สุดก็จะขอหยุดดีกว่า เพื่อได้ทำงานอย่างอื่นต่อไป กลับกันถ้ามี กสทช.มาดูแลโดยไม่มีระบบสัมปทานจากรัฐมาคอยบีบ ก็จะได้เห็นช่อง 3 หรือช่องอื่นๆกล้าทำละครวิจารณ์สังคมและกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรให้กับสังคมมากขึ้น เวลานี้จะไปว่ามอมเมาหรือว่าน้ำเน่าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าถ้าขืนทำน้ำดีออกมาก็จะเห็นที่ช่อง 3 เป็น”

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใช่ว่าช่อง 3 จะเป็นฝ่ายเสียอย่างเดียว เพราะด้านหนึ่งการทำละครที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมในเรื่องการทุจริตของภาครัฐแล้วถูกระงับการออกอากาศนั้น ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับช่อง 3 ทางใดทางหนึ่งด้วย แต่อีกด้านก็เป็นความผิดพลาดของผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องการให้ละครระงับการเผยแพร่

“ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับคุณประวิทย์ มาลีนนท์ แกบ่นเสมอเลยว่า จะให้ทำละครเพื่อสังคมมันทำได้แต่มันขายไม่ได้ ซึ่งเหนือเมฆ 2 บอกให้เรารู้ว่าช่อง 3 เริ่มกล้าวิเคราะห์วิจารณ์สังคมผ่านบทละครมากขึ้น ไม่ใช่ช่อง 3 แบบเอาสนุกสนานเอาเงินอย่างเดียวกล้าเสี่ยงกับบทละครที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ คือไม่ใช่รัฐบาลนี้โดยตรง แต่วิจารณ์สังคมที่อยู่ในช่วงทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ รัฐหรือนักการเมืองมากขึ้น

…กรณีนี้ช่อง 3 ก็ได้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาเพื่อสังคม และในแง่ของนิเทศศาสตร์ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ ยิ่งกว่าละครได้ออกอากาศไปถึงตอนจบอีก เพราะไปทำให้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องรู้แล้วว่าการทุจริตมันมีจริง

เพราะถ้าปล่อยให้คนดูเหนือเมฆจนจบก็คงไม่เป็นข่าวและไม่มีผลอะไรเลย แต่พอผู้มีอำนาจมาเห็น ผู้มีอำนาจนี่ก็เลยมาสั่งห้าม ผลเสียก็มาตกที่รัฐบาลจากการถูกวิจารณ์ว่าได้ปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน”

มีคำถามชวนสงสัยว่า ยุคนี้จะมีการแทรกแซงสื่ออย่างรุนแรงเหมือนสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่?

“ด้วยความเป็นธรรม ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็แทรกแซงสื่อตลอดเวลาอยู่แล้วอย่างผมที่ต้องหยุดทำรายการวิทยุสมัยคุณทักษิณก็เพราะไปเขียนบทความในนิตยสารฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว (Far Eastern Economic Review) นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ หรืออย่างช่อง 11 จะรัฐบาลไหนก็ไม่แพ้กัน เปลี่ยนผังรายการและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งผู้อำนวยการตามใจชอบ หรือ อสมท ก็เปลี่ยนผู้บริหารตลอด…

พวกนักการเมืองอาชีพทั้งหลายเป็นคนที่ล้าสมัยมาก ทำให้ประเทศเราไปได้ช้า ไม่ว่าจะเรื่องอะไรรวมทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ก็คือนักการเมืองแหละ เป็นกลุ่มที่ล้าสมัยมากๆ ในเมืองไทย ไม่พัฒนาตนเอง ไม่เรียนรู้ว่าปรัชญาประชาธิปไตยมันเป็นยังไงเอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ที่จริงเราน่าจะแบนนักการเมืองไม่ใช่แบนละคร”

กระนั้น แม้ว่าในระยะนี้จะเกิดกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างหนักในโลกไซเบอร์อันจากข้อสงสัยว่าแทรกแซงสื่อผ่านการถูกระงับออกอากาศแต่อาจารย์สมเกียรติ เชื่อว่ากระแสนี้ก็คงอยู่แค่ในเฉพาะสังคมออนไลน์เท่านั้น ไม่สามารถขยายผลออกมาเป็นขบวนการขับไล่รัฐบาลได้

“ก็คงเป็นกระแสอย่างนั้นสักพัก เป็นเพียงการเกิดกระแส กระแสมันเกิดขึ้นเพราะนักข่าวทำให้เป็นข่าว พอข่าวนี้มันหมดก็มีข่าวอื่นมาแทน และก็ไม่มีการสื่อสารต่ออย่างยั่งยืนเพราะฉะนั้นมันก็ส่งผลกระทบชั่วคราวระยะสั้น คงไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลระยะยาว”

‘ไร่ส้ม’ความเหมือนที่แตกต่าง

จากเหตุการณ์ “เหนือเมฆ 2” กลายเป็นจังหวะพระศุกร์พระเสาร์เข้าถึงสองครั้งอย่างจังๆ ถ้ายังจำได้ ก่อนหน้านี้บิ๊กสื่อย่านพระราม4 ก็เพิ่งเป็นจำเลยสังคมกับปัญหาเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังทำเป็นทอง

ไม่รู้ร้อนกางปีกป้อง สรยุทธ สุทัศนะจินดาเจ้าของบริษัท ไร่ส้ม ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตเงินโฆษณาของ อสมท

อาจารย์สมเกียรติ ฉายภาพเปรียบเทียบสองเหตุการณ์ไว้อย่างน่าขบคิดว่า ทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กรณีเหนือเมฆเป็นเรื่องของการปรับตัวช่อง3 ให้รับใช้สังคมมากขึ้น แต่นักการเมืองไม่ได้ปรับตัวเพื่อให้เสรีภาพกับช่อง3 อาจเรียกได้ว่าทำงานดีแต่ถูกแบน ช่อง 3 ได้คะแนนบวกทุกเรื่องเกี่ยวกับเหนือเมฆ

“อาจจะโดนวิจารณ์ไปบ้าง เพราะสังคมคาดหวังกับช่อง 3 สูงกว่านี้ แต่ช่อง 3 ทำได้แค่นี้ เพราะด้วยระบบโครงสร้างที่เป็นอยู่ ซึ่งต่างกับกรณีคุณสรยุทธ คือผู้ผลิตรายการคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจสื่อสารมวลชนแต่ช่อง 3 สมาคมก็ยังให้ทำรายการอยู่”

ทั้งนี้ สามารถอธิบายได้อีกว่า ปัญหาไร่ส้มไม่ได้เกิดที่ช่อง 3 โดยตรงแต่เป็นเรื่องที่เกิดที่อสมท ที่ติดมากับคุณสรยุทธ อย่าลืมว่าในทางหนึ่งคุณสรยุทธมาอยู่กับช่อง 3 เป็นแบบรับจ้างด้วย รับจ้างเพื่อผลิตรายการข่าวและมีผลตอบแทนทางธุรกิจระหว่างกัน ฉะนั้นประเด็นนี้ช่อง 3 ได้คะแนนลบ แต่เอาเข้าจริงก็ลบไม่มาก เพราะสังคมไม่กดดันช่อง 3 มากเท่ากับปัญหาละครเหนือเมฆ 2 ซึ่งสุดท้ายทุกเรื่องก็จะเงียบไปเพราะสังคมไทยมีความอ่อนแอกับการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันทางสังคม

“อย่างที่คุยตั้งแต่ต้นว่าช่อง 3 เป็นช่องทำธุรกิจ อะไรที่เป็นธุรกิจไปได้และมีเหตุผลอยู่ต่อไปได้ก็อยู่ แล้วสังคมเราก็อ่อนแออยู่แล้ว ไม่ได้ลงโทษอะไรคุณสรยุทธ นอกจากกลุ่มบุคคลอยู่ไม่กี่กลุ่มที่เคลื่อนไหวและอภิปรายให้สังคมเห็น แต่สังคมก็ไม่เห็นด้วย มีเพียงแค่จดหมายเวียนขอความร่วมมือของพวกองค์กรที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน

…สังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนแอมากในการตรวจสอบสื่อสนุกกันไปวันๆ หนึ่ง คุณสรยุทธก็ทำมาหากินได้ต่อไป โดยหลักการคือช่อง 3 คงอยู่ต่อไปกับคุณสรยุทธ จนกว่าจะหมดสัญญาหรือถูกกดดันทางอื่นคุณสรยุทธเขาอยู่ได้อย่างเฉยๆ โดยอ้างว่ายังไม่มีการตัดสินคดี”

สุดท้าย อาจารย์สมเกียรติ เชื่อว่าการทำงานสื่อสารมวลชนอยู่ที่ความเข้มข้นในการยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ใช่ประโยชน์ทางธุรกิจ อย่าลืมว่าสื่อสารมวลชนล้วนเป็นบุคคลสาธารณะไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง ซึ่งต้องต่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน ทว่าสังคมไทยมีความอ่อนแอในเรื่องการตรวจสอบเป็นอย่างมากทำให้ไม่เกิดการลงโทษทางสังคมขึ้น

ล้างภาพ’แดงสปริงนิวส์’

ถ้าใครเป็นคอข่าวต้องทราบกันดีว่า สมเกียรติ อ่อนวิมล คือ หนึ่งในคนข่าวตัวจริงของประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้ปฏิวัติวงการข่าววิทยุโทรทัศน์เมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยความรู้ความสามารถที่ไม่มีใครปฎิเสธ ทำให้เจ้าตัวเข้าไปมีบทบาทให้กับสำนักข่าวหลายแห่งมากมายแม้ว่าจะมีอยู่ช่วงหนึ่งเงียบหายไปบ้างแต่ชื่อของ สมเกียรติก็ยังไม่ได้เลือนหายไปจากสังคมไทยในยามที่มีประเด็นถกเถียงเรื่องบทบาทสื่อ

ล่าสุดสมเกียรติ ได้กลับคืนสู่สังเวียนอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายใต้สังกัดสถานีโทรทัศน์ “สปริงนิวส์” ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ดูแลการผลิตเนื้อหาข่าวโดยเฉพาะ

ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองสปริงนิวส์ว่าเป็นหนึ่งในทีวีสะท้อนมุมเพื่อไทย-เสื้อแดงขณะที่อาจารย์สมเกียรติถูกจัดให้เป็นนักวิชาการขาประจำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เหตุใดถึงมาทำงานด้วยกันได้

กับคำถามนี้ สมเกียรติบอกถึงเหตุผลที่กลับมารับตำแหน่งในวงการว่า”ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

“ผมใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนโดยไม่คิดจะทำงานสื่อสารอีกแล้ว ผมเลิกทำทีวีตั้งแต่ไปสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี2540 เพราะคิดว่าไม่มีอนาคตสำหรับผมในการทำโทรทัศน์ การทำทีวี ถ้าอยากมีอนาคตต้องดูแลทุกอย่างเพื่อดูแลทุกคนทั้งบนโต๊ะใต้โต๊ะเรื่องนี้เป็นชีวิตที่คนไม่รู้หรอก โดยเฉพาะคิดว่า สมเกียรติมีชื่อเสียงโด่งดังมีตังค์ที่จริงก็ไม่มีหรอกเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนดีๆ นี่เองแหละ

ช่วงหนึ่งช่อง 3 ชวนผมไปผลิตรายการข่าวต่างประเทศเมื่อ6-7 ปีที่แล้ว ประมาณปี2545 ช่อง 3 บอกว่าไม่ให้อาจารย์ทำข่าวในประเทศ ถ้าอาจารย์ทำรับรองดังแน่แต่แป๊บเดียวช่อง 3 ปิดแน่ งานการเมืองผมก็มีแค่ สว.สุพรรณบุรี และรับจ้างทำรายการทั่วไป เช่น สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นประธานอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศก็มาจ้างให้ผมทำรายการสารคดีอาเซียน จากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร”
สมเกียรติ บอกถึงที่มาที่ไปในการมาที่สปริงนิวส์ว่า

“ปลายปี 2555 คณะกรรมการบริหารของสถานีสปริงนิวส์ชวนผมไปทานข้าว และอยากให้ผมมาทำงานที่นี่ ผมไม่รู้จักใครที่นี่นอกจากคุณกฤษณพร เสริมพานิช อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเข้ามารับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ที่นี่ ผมรับงานที่นี่โดยมีเงื่อนไขอย่างเดียวว่าผมต้องได้อำนาจการทำงานอย่างเต็มที่ คือ ถ้าผมไม่ได้อำนาจสั่งงานผมก็จะไม่ได้งานที่ผมอยากทำ และผมมักจะลาออกจากงานง่ายๆ เสมอ”

“แกรมมี่เคยจ้างผมไปผู้อำนวยการช่องมันนี่แชนแนลอยู่ 5 เดือน เงินเดือนละ 2 แสนกว่าบาท เงินเยอะมากแต่ไม่ได้รับอำนาจในการบริหารงาน เหมือนเอาชื่อไปพอจะไปเสนออะไรก็ไม่ได้ทำ งั้นออกดีกว่า ไอทีวีผมก็อยู่ 2 เดือน ช่อง 7 ผมไปเป็นผู้จัดการฝ่ายข่าวก็อยู่ 2 เดือน หรือสำนักข่าวทีเอ็นเอ็น24 ประมาณ 3-4 เดือน พอมันไม่ถูกใจผม ผมก็ออก…”

“ผมบอกผู้บริหารที่สปริงนิวส์ว่าถ้าผมไม่ได้อำนาจผมขอไม่ทำดีกว่า ผมไม่ได้ต้องการอำนาจเพื่อความยิ่งใหญ่แต่ต้องการอำนาจเพื่อเปลี่ยนคนทำงานให้เข้าสู่ระบบการทำโทรทัศน์อย่างแท้จริงด้วยระบบคลาสสิกต้องทำได้ทุกเรื่องแล้วค่อยสร้างความชำนาญโดยเฉพาะผู้ประกาศข่าวต้องเก่งเหนือกว่าผู้สื่อข่าวปกติ เพราะต้องมีบุคลิกที่จะนำเสนอข่าวได้ ต้องทำงานกับองค์กรอย่างจงรักภักดี ไม่ใช่เร่ร่อนไปประกาศข่าวที่อื่นหนึ่งชั่วโมงแล้วมาที่นี่อีกหนึ่งชั่วโมง ไม่ใช่มาแบบสวยหล่อแล้วกลับบ้านได้เงินเยอะๆ บอกให้ไปทำงานตระเวนข่าวที่ไหนก็ไม่ไป แบบนี้ไม่ได้” สมเกียรติ เล่าถึงความตั้งใจ

ส่วนข้อครหาความเป็นทีวีแดงของ “สปริงนิวส์” สมเกียรติ ก็บอกว่า “เป็นหนึ่งในภารกิจที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายให้เข้ามาแก้ไข”

“ก่อนที่ผมจะมาทำงานที่นี่ผมก็ไม่ได้มองว่าสปริงนิวส์เป็นทีวีแดงนะ ผมว่าเขาก็ทำข่าวมันดี ใช้เทคโนโลยีใกล้ตัวอย่างไอโฟนโทรศัพท์มือถือที่มีต้นทุนต่ำแต่ทำงานได้เร็วมาก เป็นอีกช่องหนึ่งที่ทำข่าวแดงประท้วงได้เร็วกว่าคนอื่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมองว่าเป็นแดง”

เมื่อถามว่าส่วนตัวได้ตรวจสอบหรือไม่ว่ามีผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณก่อน

จะมารับงาน? เจ้าตัวตอบว่า “ตอนจะรับงานผมก็ถามไปว่าเป็นแดงเปล่า แล้วใครถือหุ้น ตกลงเป็นบริษัท โซลูชั่นคอนเนอร์ หรือ SLC ในตลาดหลักทรัพย์ ทำธุรกิจซอฟต์แวร์แล้วมาลงทุนทำธุรกิจสื่อพอคนนึกว่าเป็นแดงก็เสียหายพอมันไม่มีข่าวแดงให้ทำแล้วก็ไม่มีอะไรทำ คือ ไม่มีวิกฤตให้เล่น แล้วคนก็ยังมองว่าแดง แดง อยู่ ปล่อยเป็นแบบนี้ไม่ต้องทำมาหากินกันพอดี

ความจริงการมีความคิดเป็นแดงหรือเป็นเหลืองเป็นเสรีภาพตามทางรัฐศาสตร์แต่การทำงานสื่อสารมวลชนต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ผมก็โดนด่าทางเฟซบุ๊กนะเมื่อครั้งบอกไปว่าจะมารับงานที่นี่ว่าอาจารย์รับเงินคุณทักษิณเหรอ นี่มันแดงไม่ใช่เหรอ ผมก็ไม่คิดแก้ตัวแต่ผมจะทำให้เห็นว่าไม่แดงไม่เหลืองโดยจะเป็นที่พึ่งของคนทุกส่วนให้ในสังคม”

เมื่อการทำรายการโททัศน์จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยโฆษณา และถ้าเกิดมีปรากฏการณ์คุณขอมาจากภาครัฐจะวางตัวอย่างไร? สมเกียรติ อธิบายว่า “เราคงจะไปหาโฆษณาจากภาครัฐอยู่แล้วแต่ว่าจะมาแทรกแซงเราไม่ได้หรอก แต่ถ้าจะมาคุยกันให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรได้ไม่มีปัญหา นักการเมืองต้องพัฒนาและเข้าใจว่าสื่อต้องให้ความเป็นธรรมในสังคมไม่ใช่ต้องสยบอยู่ในอำนาจการเมือง แต่นักการเมืองจะมีอำนาจบารมีก็ต่อเมื่อได้บริหารจัดการประเทศอย่างที่น่ายกย่อง”

“อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้าระบบสัมปทานภาครัฐจะค่อยๆ หมดบทบาทไปเนื่องจากจะเข้ายุคทีวีดาวเทียมแค่ขอใบอนุญาต ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจรัฐ ใช้เงินทุนไม่มาก ใครๆ ก็เขาทำธุรกิจนี้ได้ ไม่ต้องกลัวถูกปิด เพราะเทคโนโลยีทำให้เราทำอะไรก็ได้ เหลืออย่างเดียวคือความรับผิดชอบต่อสังคมจรรยาบรรณวิชาชีพ ถ้าไม่ยึดตรงนี้ก็ไม่รู้จะอยู่ได้ไง” สมเกียรติ ให้บทสรุป