Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

เอกชนวอน กสทช.ทบทวนเกณฑ์ทีวีดิจิตอลสาธารณะ

Author by 19/02/13No Comments »

เอกชน เรียกร้อง กสทช.เลื่อนเวลาเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลสาธารณะ จนกว่าจะมีความชัดเจนด้านคุณสมบัติ พร้อมเรียกร้องให้ปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ เพื่อเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะได้ ไม่จำกัดเพียงหน่วยงานรัฐ มูลนิธิฯ และ สถาบันการศึกษา นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ในฐานะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. กล่าวระหว่างงานเสวนาเรื่อง ทีวีสาธารณะ (ดิจิตอล) เพื่อใคร? ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวและวิทยุโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรณีความไม่ชัดเจนของการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ประเภทสาธารณะ ว่า ขณะนี้การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะยังไม่มีความชัดเจน และเป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นตามกรอบของกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายธวัชชัยยอมรับว่า ที่ผ่านมา กสทช.ให้ความสำคัญกับทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจมากเกินไป ทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ขององค์กรที่มีสิทธิ์ยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอล เพื่อบริการสาธารณะทั้ง 3 ประเภท ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ตามกรอบการทำงานของ กสทช. กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิฯ ที่ไม่แสวงหากำไร และสถาบันการศึกษา ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดยื่นขอใบอนุญาตฯ ในเดือนมีนาคมนี้ ทำให้ภาคเอกชนเกรงว่าการกำหนดคุณสมบัติตามกรอบของกฎหมายจะทำให้ทีวีดิจิตอล ประเภทสาธารณะ ทั้ง 12 ช่องเป็นของรัฐทั้งหมด และเป็นสาเหตุให้ธุรกิจทีวีถอยหลังลงคลอง รวมทั้งอาจเกิดปัญหาความไม่โปร่งใส ซึ่งตนเห็นด้วยว่าควรเลื่อนกำหนดการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตออกไป เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์มีความชัดเจนขึ้น ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลกรณีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ประเภทสาธารณะที่ยังไม่มีความชัดเจน และหากเป็นไปตามหลักกฎหมายองค์กรที่มีสิทธิ์ยื่นขอรับใบอนุญาตจะมีเพียงหน่วยงานรัฐเท่านั้น ซึ่ง กสทช. ควรขยายเวลาการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตออกไป เพื่อทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตเพิ่มเติม โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ซึ่งอาจเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ด้วย

ที่มา :  http://news.voicetv.co.th/