Home » กิจกรรมสภาวิชาชีพข่าวฯ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

Author by 17/09/10No Comments »

และข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน  สาระสำคัญเป็นการวางกรอบและแนวปฏิบัติของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และแนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์  ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการใช้สิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศใช้ ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓ และ ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๕๓  ซึ่งลงนามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553 ไปแล้ว จากนั้นจะได้ส่งข้อบังคับดังกล่าวไปให้องค์กรสมาชิกเพื่อใช้เป็นกรอบและแนวปฏิบัติร่วมกันต่อไป

“การออกข้อบังคับดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพข่าวของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการควบคุมกำกับกันเองของสื่อ ที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม”

สำหรับสาระสำคัญของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรม ก็คือ การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักวัตถุวิสัย ด้วยความถูกต้องเที่ยงตรง แม่นยำ และครบถ้วน ด้วยความเป็นธรรม โดยปราศจากอคติ  การนำเสนอต้องตระหนักถึงประโยชน์แห่งสาธารณะ ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์และโศกนาฏกรรมแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าว หากเกิดความผิดพลาดต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที พร้อมทั้งขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าว

ทางด้านผู้ประกอบวิชาชีพข่าว จะต้องไม่อวดอ้างตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม ต้องไม่รับอามิส สินจ้าง หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการ หรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องรอบด้าน

ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกใดที่กำหนดจริยธรรมขององค์กรตนเองไว้แล้ว และมีหลักเกณฑ์ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้ แทน

สำหรับองค์กรสมาชิกปัจจุบัน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5), สำนักข่าวไทย บมจ. อสมท,สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11), สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย, เนชั่น  แชนแนล , บริษัท สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น จำกัด, บริษัท สำนักข่าว ทีนิวส์ จำกัด,  บมจ. มีเดีย ออฟมีเดียส์ จำกัด, สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บมจ. สยามอินเตอร์ มัลติมิเดีย  ขณะที่คณะกรรมการบริหารสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ 12 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อีก 7 คน