Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

‘สถานีโทรทัศน์’ กับการแก้วิกฤตชาติ

Author by 26/05/11No Comments »

โดย : ศ.นพ.ประเวศ วะสี

การเมืองไทยอยู่ในโหมดทำลายกัน นสพ.วิกฤต คนเสพข่าวทีวีมากขึ้น ถ้าคนทำมีปัญญามีศีลธรรม จะพาออกจากวิกฤต หวังธุรกิจไปพร้อมกับเป็นสถาบันทางปัญญา

สถานีโทรทัศน์จะมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการแก้วิกฤตชาติ
                ชีวิตใดชีวิตหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจวิกฤตได้ถ้ามีปัญญาไม่พอที่จะรักษาดุลยภาพในตัวเอง และดุลยภาพกับสภาพภายนอกรอบตัวประเทศไทยวิกฤตเพราะไม่มีปัญญาพอที่จะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนและจัดความสัมพันธ์ในตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับภายนอกให้สมดุลได้ การขาดปัญญาที่เข้าใจความซับซ้อน จะทำให้ประเทศวิ่งเข้าสู่สภาวะวิกฤตมากขึ้น ๆ จนกระทั่งเกิดมิคสัญญีกลียุคได้
                จะเรียกว่าวิกฤตการณ์ทางปัญญาก็ได้ หรือวิกฤตการณ์ความซับซ้อนก็ได้
                วิกฤตการณ์ทางปัญญาของไทย เกิดจากการขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้ การขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้เกิดจากที่ตั้งของประเทศ ที่อยู่ในเขตร้อนที่มีอาหารสมบูรณ์มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย ไม่ต้องสนใจเรียนรู้อะไรมากอยู่รอดได้ ต่างจากประชากรที่อยู่ในภูมิประเทศที่ยากลำบากที่ถ้าไม่ขวนขวายเรียนรู้ก็มีชีวิตรอดไม่ได้ อาจเรียกว่าความสุขสบายในอดีตนำไปสู่ความประมาท ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปที่มีความสลับซับซ้อนและความยากลำบากในเรื่องต่างๆ เป็นอเนกปริยาย ที่ถ้าขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้แล้วก็จะไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจความเป็นจริงที่สลับซับซ้อน ก็ไม่สามารถจัดการความซับซ้อนได้ ทำให้ประเทศขาดสมรรถนะที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรม ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความแตกแยกในประเทศ ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
                ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนสลับซับซ้อนและเข้าใจยาก ถ้าสังคมโดยรวมไม่เข้าใจความยากของความซับซ้อนเหล่านี้ ก็จะทอนกำลังกันเอง ขาดเอกภาพของการแก้ปัญหา และแก้ไม่ได้ ประเทศดิ่งสู่วิกฤตมากขึ้นๆ อย่างน่ากลัว
                ความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสมบวกวัฒนธรรมการเรียนรู้ นำไปสู่การยกระดับทางปัญญาได้  แต่ความขัดแย้งทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายนำไปสู่ความรุนแรงและทำลายสติปัญญาของสังคม ในการต่อสู้ที่มุ่งเอาชนะหรือคู่ต่อสู้จะไม่คำนึงถึงความจริง จะให้ข้อมูลเท็จบิดเบือนความจริงอย่างไรก็ทำกันเพื่อมุ่งชนะลูกเดียว การเมืองไทยอยู่ในโหมดการต่อสู้ ทำลายกันนานเกิน พาเรื่องข้อมูลข่าวสารการสื่อสารและวิธีคิดที่ทำให้สมองส่วนหน้าฝ่อ สมองส่วนหลังนั้นสำหรับการต่อสู้ สมองส่วนหน้านั้นสำหรับสติปัญญา ในเรื่องที่ซับซ้อนและศีลธรรมสังคมที่ผู้คนมีสมองส่วนหน้าฝ่อจะวิกฤตทางปัญญาและศีลธรรมอย่างยิ่ง
                ในสภาพอย่างนี้ จะยกระดับสติปัญญาของสังคมโดยรวมได้อย่างไร
                ระบบการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ย่อมไม่ทันการอย่างแน่นอน เพราะท่องวิชาไปเรื่อยๆ โดยไม่เรียนรู้จากความเป็นจริงที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนและเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยควรจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาที่พาชาติออกจากวิกฤต ก็ยังเป็นไม่ได้
                หนังสือพิมพ์กำลังประสบสภาวะวิกฤตในตัวเอง เพราะคนอ่านน้อยลงหันไปเสพข่าวทางโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น สภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ทำให้หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ในโลกที่มีมานานเป็นร้อยปีต้องปิดตัวลงสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้ต้องปิดตัว หรือหันไปรับจ้างประชาสัมพันธ์มากขึ้นๆ ทำให้ความเป็นหนังสือพิมพ์น้อยลงๆ ขณะเดียวกันมีความจำเป็นที่จะต้องบำรุงรักษาเพิ่มพูนนักเขียนดีๆ เพราะเรื่องที่สลับซับซ้อนและยากถ้าไม่อ่านจะไม่เข้าใจ แต่คนไทยก็อ่านน้อยปัญหามันวนเวียนๆ กันอยู่อย่างนี้ เป็นวงจรอุบาทว์ ที่จะต้องตัดวงจรให้ได้ถ้าเราจะพัฒนาปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต ยังเหลือแต่โทรทัศน์เท่านั้นที่อยู่ในสถานะที่ดีที่มีคนดูมาก เข้าถึงประชาชนโดยกว้างขวางและรวดเร็ว และก็ไม่ขาดทุน บางสถานีก็ถึงกับร่ำรวยด้วยช้ำไป ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องหนีไม่พ้น ที่สถานีโทรทัศน์จะต้องเข้ามาเป็นสถาบันทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต
                สถานีโทรทัศน์สามารถทำธุรกิจไปด้วย พร้อมๆกับมีความเป็นสถาบันทางปัญญาไปด้วย
                ผมไม่ได้เสนอให้ท่านเลิกรายการละครน้ำเน่า เพราะที่ไหนๆก็มีทั้งสิ้นเพราะคนดูชอบ แต่ในเรื่องน้ำเน่าที่คนดูเยอะๆ สามารถสอดประเด็นที่สำคัญทางสังคมเข้าไปได้ มีผู้เล่าว่าในภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ไฟไหม้บ้านพระเอกวิ่งหนีออกมา แต่นึกได้ต้องวิ่งกลับเข้าไปเอาของสำคัญ ของสำคัญชิ้นนั้นคือหนังสือเล่มหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างของการสอดความสำคัญของการอ่านเข้าไปในการแสดง เพราะผู้สร้างเข้าใจประเด็นสำคัญของสังคม
        ถ้าสถานีโทรทัศน์เข้าใจประเด็นที่สำคัญๆ ของสังคมก็สามารถสอดแทรกเข้าไปในรายงานการต่างๆ ได้เสมอ จะทำให้สังคมได้สาระไปโดยไม่รู้ตัว

สถานีโทรทัศน์อาจพัฒนาความเป็นสถาบันทางปัญญาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
๑.สร้างคลังสมองของสถานี โดยทะนุบำรุงคนกลุ่มหนึ่งหรือเครือข่ายของคนที่มีปัญญา เห็นความเป็นไปในโลกและในประเทศทั้งหมด รู้ประเด็นสำคัญของประเทศ คลังสมองนี้  จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการทั้งหมดของสถานีโทรทัศน์
๒.สนับสนุนการวิจัยปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมไทย ให้รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทางสังคม เพื่อเอามาสื่อสาร
๓.คัดเลือกและพัฒนานักข่าว ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ ที่มีสติปัญญาสูงเข้าใจความเป็นจริงทางสังคม และประเด็นที่สำคัญๆ ของชาติ ร่วมทั้งสร้างนักเขียนเก่งๆ
๔.สร้างละคร และภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่สนุก และสอดแทรกประเด็นหลักของสังคม
๕.จัดรายการประชาเสวนา (Citizen Dialogue) ทางโทรทัศน์ สังคมไทยแตกแยกรุนแรง ขาดเอกภาพทางปัญญา ทอนกำลังกันเอง ไม่สามารถปฏิบัตินโยบายที่สำคัญๆ ของประเทศได้ การใช้แต่ความเห็นไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ หรือยิ่งกลับทะเลาะกันมากขึ้น เพราะร้อยคนก็เห็นร้อยอย่างต่างๆ กันไป

แต่กระบวนการประชาเสวนาใช้ข้อมูลและความรู้เข้าไปในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่มาจากพื้นฐานที่ต่างกันมีฉันทมติตรงกันได้ ประชาเสวนาเป็นกระบวนการประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ ก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้วยสันติวิธี ถ้าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทำความเข้าใจและจัดรายการประชาเสวนาทางโทรทัศน์เป็นประจำ จะลดความแตกแยกและความรุนแรง สร้างสรรค์วิธีคิดที่ใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ ใช้เหตุผล ที่ก่อให้เกิดปัญญาและวิจารณญาณขึ้นในสังคม

๖.จัดเสวนานักการเมืองทางโทรทัศน์ ทำนองเดียวกับประชาเสวนา หรือผสมกัน จะเป็นการพัฒนาคุณภาพนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง
๗.ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทำเรื่องสำคัญของชาติให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาออกรายการโทรทัศน์ แล้วมีการตั้งคำถาม จุดยืนของพรรคว่าถ้าได้รับเลือกมาเป็นรัฐบาลแล้วจะทำเรื่องที่สำคัญของชาติดังนี้หรือไม่ ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งประกาศว่าจะทำจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ขับเคลื่อนต่อไปโดยไม่หยุด ยกตัวอย่างเช่นคุณบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยในการเสียงเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๓๘ ได้ประกาศว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะปฏิรูปการเมืองตามที่หมอประเวศเสมอ การปฏิรูปการเมืองกลายเป็นประเด็นทางการเมืองทันที สื่อมวลชนก็จะไปถามพรรคอื่นๆ ว่าพรรคนี้เขาว่าอย่างนี้พรรคคุณว่าอย่างไร เมื่อเป็นประเด็นทางการเมืองแล้วสังคมก็จะเฝ้าติดตาม สมมติว่าเมื่อคุณบรรหารเป็นรัฐบาล แล้วเกิดจะเปลี่ยนใจไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไปสัญญาต่อสาธารณะไว้แล้ว ดังนี้เป็นต้น

ฉะนั้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สถานีโทรทัศน์สามารถทำให้เรื่องสำคัญของชาติให้เป็นประเด็นทางการเมืองได้การจะประมวลสาเหตุของปัญหาใหญ่ของชาติมาพัฒนาเป็นข้อเสนอทางนโยบายนั้นทำได้ยาก เพราะต้องใช้ความสามารถทางวิชาการสูงมาก เรื่องใหญ่ของชาติคือการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ คณะกรรมการปฏิรูปสองคณะได้ทำงานจนเป็นข้อเสนอทางนโยบาย ถ้าผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ศึกษาข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปและมติของสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ ๑ แล้วนำไปถามหัวหน้าพรรคการเมือง ก็จะทำให้เรื่องที่สำคัญของชาติเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะมีพลังขับเคลื่อนต่อไป เป็นตัวอย่าง
            ถ้าสถานีโทรทัศน์มีความเป็นสถาบันทางปัญญา ยังทำเรื่องอื่นๆ ได้อีกที่จะสร้างปัญญาให้สังคมเพื่อพาชาติออกจากวิกฤต แต่ ๗ ข้อข้างต้นก็น่าจะเพียงพอที่ให้เห็นว่าสถานีโทรทัศน์จะมีบทบาทที่สำคัญในการแก้วิกฤตทางปัญญาของชาติได้อย่างไร สถานีโทรทัศน์จะเป็นของใครก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นของสังคมจึงไม่ควรจะต้องเป็นภาระของสถานีโทรทัศน์แต่เดียวดาย สังคมควรจะเข้ามามีส่วนร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในการสร้างความเป็นสถาบัน สังคมมีทรัพยากรทางความรู้ความคิดกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น สถาบันทางวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการเมือง ทรัพยากรทางสังคมเหล่านี้ควรเข้าร่วมช่วยให้สถานีโทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤต
    ตัวอมีบาซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว ยามปรกติต่างตัวต่างหากินกันไป แต่ยามวิกฤตมันจะกระจุกตัวเพื่อช่วยกัน
    เราเป็นคน ต้องสามารถทำได้ดีกว่าตัวอมีบา
    ประเทศวิกฤติสุด ๆ แล้ว คนไทยต้องรวมตัวกัน

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พฤษภาคม 2554