Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

Author by 17/08/11No Comments »

รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

1. ความเป็นมา

ตามที่มีการเสนอข่าวอีเมล 2 ฉบับ ที่ใช้หัวข้อว่า “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” ส่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 และ “ข้อเสนอ วิม‏” ส่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เผยแพร่ในเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งพาดหัวว่า “กุนซือ ‘ปู’ ซื้อสื่อที่ละ 2 หมื่น” (เอกสารแนบ 1)   โดยเนื้อหาข่าวพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์หลายสังกัด ที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินั้น   ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมตามข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  ดังต่อไปนี้

1. นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

2. นางบัญญัติ ทัศนียะเวช

3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์

4. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ

5. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

2. วิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2554 และมีมติเลือก นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ  

คณะอนุกรรมการฯ ตระหนักดีว่า เรื่องที่อยู่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ มีความอ่อนไหว และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยบางครั้งสื่อมวลชนเองก็กลายส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว จึงพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาในกรอบเวลาที่จำกัด โดยใช้หลายแนวทางดังต่อไปนี้ประกอบกัน

  1. เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อถูกพาดพิงตามข่าว และผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์  ซึ่งเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต่อสาธารณะเป็นรายแรกมาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ   
  2. ขอความร่วมมือไปยังทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
  3. ขอทราบผลการตรวจสอบภายในของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดประเด็นในการตรวจสอบดังต่อไปนี้

  1. อีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร
  2. หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่
  3. มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่

 

จากการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนและผู้แทนของเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ มาให้ข้อมูลตามเอกสารแนบ 2 นั้น  ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน 5 คนดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้ ได้ให้ความร่วมมือในการมาให้ข้อมูล (ชื่อในวงเล็บคือชื่อที่ถูกพาดพิงในอีเมล)   

  1. นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล (“คุณโจ้”) บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
  2. นายปรีชา สะอาดสอน (“ปรีชา”) บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น
  3. นายสมหมาย ยาน้อย (“พี่ป๊อป สมหมาย”) หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  4. นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ (“พี่โมทย์”) หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
  5. นายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้ถูกพาดพิงจำนวน 3 คนในเครือบริษัทมติชนคือ นายจรัญ พงษ์จีน (“พี่จรัญ”)  นายทวีศักดิ์ บุตรตัน (“พี่เปี๊ยก”) และนายชลิต กิติญาณทรัพย์ (“พี่ชลิต”) ไม่ได้มาให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ  โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด (ดูเอกสารแนบ 3)  ส่วนหนังสือพิมพ์ข่าวสด ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดชื่อ “ชลิต” ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง (ดูเอกสารแนบ 4)  ในภายหลัง คณะอนุกรรมการฯ ทราบว่า นาย ชลิต กิติญาณทรัพย์ เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ข่าวสด   จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการตรวจสอบจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนอีกครั้ง พร้อมกับเชิญให้นายจรัญ พงษ์จีน  นายทวีศักดิ์ บุตรตันและนายชลิต กิติญาณทรัพย์มาให้ข้อเท็จจริง (ดูเอกสารแนบ 5) แต่ก็ได้รับการตอบกลับจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนว่า บุคลากรของกองบรรณาธิการไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมลดังกล่าวและไม่มีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในอีเมลแต่อย่างใด  และเห็นว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง (ดูเอกสารแนบ 6)  ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เชิญมาให้ข้อเท็จจริงโดยตรงทั้งสามคนนั้น ก็ไม่ได้มาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการฯ และไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงตอบกลับมาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เชิญนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย มาให้ข้อมูลด้วย  ซึ่งนายวิม ก็ได้ตอบรับที่จะมาให้ข้อมูลในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554  แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิมก็ได้แจ้งยกเลิกการมาให้ข้อมูล โดยอ้างว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากเกรงว่าผลการตรวจสอบอาจส่งกระทบในด้านลบต่อพรรคและจะขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน   อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นบางประการจากนายวิมทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าว ดังปรากฏในเอกสารแนบที่ 7 ต่อมาเมื่อ กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง  คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้ติดต่อไปอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้นายวิมมาให้ข้อเท็จจริง แต่นายวิมก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มาข้อเท็จจริง เนื่องจากได้เกิดการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต. แล้ว

3. ข้อค้นพบ

3.1 ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการให้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง

          จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าอีเมลดังกล่าวน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (account) และรหัสผ่าน (password) ของนายวิม จริง    เนื่องจากในการสัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังเป็นข่าว นายวิมไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่อ้างว่าเป็นบัญชีที่เปิดไว้เป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค (ดูเอกสารแนบ 8)    ทั้งนี้การให้สัมภาษณ์ของนายวิมที่ว่า อีเมลดังกล่าวเป็นอีเมลสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรคนั้น ก็ขัดแย้งอย่างแจ้งชัดกับคำกล่าวอ้างของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ว่ามีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ได้ขโมยรหัสลับในการเข้าสู่อีเมล (ดูเอกสารแนบ 9) เนื่องจากหากอีเมลดังกล่าวเป็นบัญชีสาธารณะจริงแล้ว ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขโมยรหัสลับในการเข้าไปใช้แต่อย่างใด   จึงเห็นได้ว่า ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน น่าจะได้ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงต่อสาธารณะ

เชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเอง ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังต่อไปนี้     ประการที่หนึ่ง เนื้อหาในอีเมลส่วนใหญ่มีความเป็นเหตุผลและตรงกับข้อเท็จจริงที่บุคคลในตำแหน่งของนายวิมน่าจะรับรู้ เช่น เนื้อหาของอีเมลฉบับแรกที่ใช้หัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” นั้นเริ่มจากสถานการณ์การเมืองทั่วๆ ไป ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงในขณะนั้น  ทั้งนี้ เนื้อหาหลายส่วนน่าจะเป็นเรื่องที่นายวิมหรือทีมงานเท่านั้น ที่อยู่ในฐานะล่วงรู้ข้อมูลได้ เช่น เรื่อง “คุณโจ้และปรีชา ที่มาสัมภาษณ์ ที่บ้าน [ท่านพงษ์ศักดิ์] เมื่อสัปดาห์ก่อน” หรือเรื่องที่ว่า “นักข่าวต่างประเทศหลายสำนักขอสัมภาษณ์ท่านนายกฯ ทักษิณ เช่น อาซาฮี ยูมิอูริ เอพี และ ไทยพีบีเอส พร้อมที่จะสัมภาษณ์ แต่ก็รอคำตอบจากท่านอยู่”    

นอกจากนี้ บทบาทของนายวิมตามอีเมลดังกล่าวที่ช่วยแจ้งประเด็น เช็คประเด็นจากสื่อมวลชน สร้างประเด็นหรือภาพกิจกรรม ประสานสื่อมวลชน ตลอดจนเตรียมประเด็นแถลงข่าวให้ผู้บริหารของพรรค ก็น่าจะสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของนายวิมในฐานะรองโฆษกพรรค และตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ในอีเมลฉบับที่ 2 ของนายวิม ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 มีเนื้อหาว่า “ผมจะให้คุณปูพูด [เรื่องนโยบายกีฬา] ของพรรค ในวันพรุ่งนี้”  ก็ปรากฏว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แถลงนโยบายกีฬาของพรรคในวันที่ 25 มิถุนายน 2554 จริง ดังปรากฏเป็นข่าวในวันที่ 26 มิถุนายน 2554

ประการที่สอง ภาษาที่ใช้ในอีเมลทั้งสองฉบับกลมกลืนกันเหมือนเขียนด้วยคนเดียว วิธีเรียกชื่อสื่อมวลชนในอีเมลดังกล่าว เช่น พี่จรัญ พี่ชลิต พี่ป๊อป สมหมาย คุณโจ้ และปรีชา ก็สอดคล้องกับวิธีที่นายวิมใช้เรียกบุคคลเหล่านั้นในการให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ทางโทรศัพท์

ประการที่สาม ข้ออ้างของนายวิม ที่กล่าวว่า อีเมลดังกล่าวได้เปิดไว้เพื่อให้ใช้โดยสาธารณะสำหรับสื่อมวลชน และผู้สื่อข่าว เข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ ของพรรค  ไม่น่าจะสมเหตุสมผล เนื่องจากผิดปรกติวิสัยในการใช้อีเมลของคนทั่วไป เพราะหากจะเปิดอีเมลไว้ใช้เป็นสาธารณะ ก็น่าจะใช้ชื่อบัญชีกลางๆ ไม่ใช่ชื่อบัญชีของตน     นอกจากนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ขอรหัสผ่านของอีเมลดังกล่าว ก็ปรากฏว่า นายวิมไม่ได้ให้  ทั้งๆ ที่จากคำพูดของนายวิม ซึ่งเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ เขาได้ให้รหัสผ่านแก่สื่อมวลชนจำนวนมาก  การสอบถามนักข่าวที่ทำข่าวประจำพรรคเพื่อไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดคอมพิวเตอร์ในการใช้งานอย่างเป็นระบบ การจะเข้าไปใช้ต้องมีการ์ด และนักข่าวไม่สามารถใช้อีเมลของนายวิมได้ตามที่กล่าวอ้าง

ประการที่สี่ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงหลายคนที่มาให้ถ้อยคำเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง โดยจำนวนนี้บางรายได้โทรศัพท์ไปหานายวิมและนายวิมได้กล่าวคำขอโทษ โดยจากคำขอโทษดังกล่าวทำให้บุคคลนั้นเชื่อว่า นายวิมเป็นผู้เขียนอีเมลดังกล่าวจริง

ประการสุดท้าย ในการสนทนากับคณะอนุกรรมการฯ  ในทางโทรศัพท์  นายวิมกล่าวว่า “ไม่แน่ใจ แต่ทางพรรคน่าจะลบ [อีเมลดังกล่าว] หรือไม่ก็บล็อก [บัญชีอีเมล] ไปแล้ว”   ทั้งที่ไม่ควรมีเหตุผลต้องลบเพื่อทำลายหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากนายวิมเองก็เคยกล่าวว่า  “ทีมกฎหมาย [ของพรรคเพื่อไทย] จะต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากเรื่องนี้”  นอกจากนี้ เนื่องจากบัญชีอีเมลดังกล่าวเป็นของนายวิมเอง ซึ่งต้องใช้เป็นประจำ จึงต้องสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าได้มีการลบหรือบล็อกไปแล้วหรือไม่ โดยไม่ต้องคาดเดา   การกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของนายวิม จึงอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามในการปกปิดข้อมูลบางประการ

          อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบให้เรื่องดังกล่าวเกิดความกระจ่างโดยปราศจากข้อสงสัยได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแสวงหาพยานหลักฐานและไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงบางราย   การจะได้ความกระจ่างในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ  ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลตามที่ผู้ถูกพาดพิงบางคนกล่าวว่าอาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย 

ส่วนการตรวจสอบที่มาของอีเมลดังกล่าว  นายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ให้การว่า ได้รับอีเมลดังกล่าวส่งมายัง mgr_politics@yahoo.com ซึ่งเป็นอีเมลกลางในการรับข่าวของโต๊ะข่าวการเมือง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 โดยทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ได้มีการหารือกันเห็นว่า เนื้อหาของอีเมลดังกล่าวมีความน่าสนใจ สมควรที่จะนำเสนอเผยแพร่ให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ  อย่างไรก็ตาม นอกจากการประเมินว่าข่าวมีความน่าสนใจแล้ว คณะอนุกรรมการฯ พบว่า ทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล โดยอ้างว่า หากสอบถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึงถูกพาดพิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าวมาให้เป็นใคร เป็นต้น

3.2 ผลการศึกษาการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกพาดพิงในอีเมล

          คณะอนุกรรมการฯ โดยการสนับสนุนของทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อ ได้สำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าวคือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–3 กรกฎาคม 2554 โดยศึกษาเนื้อหาใน 5 ส่วนต่อไปนี้  (ดูรายละเอียดดูในเอกสารแนบ 10)

  1. ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ
  2. พาดหัวข่าว/ความนำ ประเด็นข่าวและการเรียงลำดับประเด็นข่าว
  3. บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว
  4. คอลัมน์การเมือง และ
  5. โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยในกรณีของการลงโฆษณาจะศึกษาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจด้วย

การศึกษาดังกล่าวให้ข้อค้นพบดังต่อไปนี้

 1. ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ: พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)  นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก  โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และ คมชัดลึก    นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของน.ส. ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก

(มีต่อ)
ดาวน์โหลดเอกสารทั้งหมด