Home » กิจกรรมสภาวิชาชีพข่าวฯ

รายงานการสอบสวนคณะอนุกรรมการพิเศษ

Author by 28/03/12No Comments »

เลขที่ ๑/๒๕๕๔
วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔

………………………………………………ผู้ร้องเรียน

ระหว่าง คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มีมติเห็นควรรับไว้พิจารณา

………………………………………………ผู้ถูกร้องเรียน

เรื่อง กรณีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุว่าสื่อมวลชนรับสินบนและกรณีนักการเมืองแทรกแซงสื่อมวลชน

ความเป็นมา

          เมื่อวันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๔ มีข่าวเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์อิเลคทรอนิกส์ “เมเนเจอร์ออนไลน์” เปิดเผยเรื่องมีผู้ส่งข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(อีเมล์) จำนวน ๒ ฉบับ ไปยังสื่อมวลชนหลายแห่งโดยมีชื่อผู้ส่ง “วิม(wim rungwattanajinda)” จดหมาย อิเล็กทรอนิกส์ wim108@live.com ส่วนผู้รับชื่อ “พงษ์ศักดิ์” จดหมายอิเล็กทรอนิกส์“rukta_ladawan@yahoo.com”และrukta.pong@yahoo.com

          ฉบับแรกหัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” วันที่ส่ง ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการวางแผนหาเสียงเลือกตั้งโดยมีข้อความสำคัญว่า “ผมพยายามประคองกระแสให้ข่าว และรูปของคุณปูอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ได้ทุกวันโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสี ไทยรัฐ (พี่โมทย์) มติชน (พี่เปียกกับพี่จรัญ) ข่าวสด (พี่ชลิต) เดลินิวส์ (พี่ป๊อป สมหมาย) คม-ชัด-ลึก (คุณโจ้และปรีชาที่มาสัมภาษณ์ที่บ้านเมื่อสัปดาห์ก่อน) ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วผมช่วยดูแลไปแล้วที่ละ ๒ หมื่น ส่วนผู้สื่อข่าวทีวีก็ใช้เลี้ยงข้าวบ้าง เลี้ยงเหล้าบ้าง ยังไม่มีใครเรียกร้องอะไร ยกเว้นช่อง ๗ ที่ขอไวน์และเหล้า ส่วนเวลาไปต่างจังหวัด พี่สุณีย์ก็ให้บ้าง ส่วนที่พรรคไม่เคยให้เลย เคยบอกพี่สาโรจน์ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ”

         ฉบับที่สอง หัวข้อ “ข้อเสนอ วิม” วันที่ส่ง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นข้อความให้คุณปูพูดหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายกีฬาและข้อความที่ต้องการให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ประกาศว่า จะไม่กลับประเทศไทย เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ลำบากใจ พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการปราศรัยหาเสียงที่สี่แยก ราชประสงค์ ทำให้กระแสของคุณปูแรงมากขึ้น และมีข้อความสำคัญว่า “ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาเล็กน้อยเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนเนื่องจาก สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของบริษัทเอเยนซี่ที่ ปชป. จ้างมา ด้วยการสั่งให้ช่อง ๙ ,TNN,ช่อง ๕ และช่อง ๑๑ หยุดส่งทีมตามข่าวคุณปู ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนหนังสือพิมพ์ มีบางฉบับไม่รับเงินเราแล้วบอกว่า ปชป.บีบ และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครให้เงินไปดูแลนักข่าวเลยพี่สาโรจน์ บอกว่า จะให้ก็ไม่ให้รายงานให้พี่ทราบเฉยๆ พี่ไม่ต้องจ่ายแล้วเพราะหมดไปเยอะแล้ว”

          ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันหารือและเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือ ของสถาบันสื่อมวลชนโดยรวมเห็นควรให้สภาวิชาชีพทั้งสององค์กร ได้แก่ สภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรม ของสื่อมวลชนด้านหนังสือพิมพ์และวิทยุตามลำดับพิจารณาดำเนินการตามธรรมนูญและข้อบังคับของสภาวิชาชีพทั้งสองต่อไปในการประชุมประจำเดือนปกติที่กำหนดไว้แล้วโดยสภาวิชาชีพทั้งสอง คือ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะให้การสนับสนุนการดำเนินการของสภาวิชาชีพอย่างเต็มที่เพื่อให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใสและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อสภาวิชาชีพทั้งสองมีมติให้ดำเนินการประการใดจะแถลงให้สาธารณชนทราบต่อไป

          ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นายวิม รุ่งวัฒนจินดา ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนปฏิเสธว่านายวิม มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เข้าใจว่ามีคนเข้าไปใช้อีเมล์ของตนส่งออกไป ซึ่งอีเมล์ดังกล่าวส่งเพื่อให้เป็นสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าวเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆของพรรคซึ่งไม่คิดว่าจะมีความลับอะไร ผู้กระทำคงต้องการสื่อถึงนายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตนใช้โทรศัพท์คุยกันง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนอีเมล์ส่งหากัน

          ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความจำเป็นต้องซื้อสื่อตามที่ระบุในอีเมล์ เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่ที่สื่อให้ความสนใจทำข่าวอยู่แล้ว จากการถามนายวิมยืนยันว่ามีกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำลายภาพลักษณ์ของพรรคโดยการเข้าไปเจาะระบบ ข้อมูลส่วนตัวแล้วส่งข้อมูลไปยังสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าพรรคเพื่อไทยซื้อสื่อ และไม่มีเหตุผลใดที่จะส่งอีเมล์ไปยัง ASTV ผู้จัดการที่เป็นสื่อฝ่ายตรงข้ามกัน

คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษ

          ต่อมาในการประชุมกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ครั้งที่ ๖/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมมีความเห็นว่ากรณีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของ นายวิม ที่ระบุว่ามีสื่อมวลชนรับสินบนในการนำเสนอข่าวและมีนักการเมืองแทรกแซงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุ และโทรทัศน์จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประกอบด้วย

๑.     นายเจษฎา   อนุจารี                           ประธานอนุกรรมการ

๒.     นายสมชาย  หอมลออ                       กรรมการ

๓.     นพ.ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา               กรรมการ

๔.     นางสาวสุวรรณา  สมบัติรักษาสุข        กรรมการ

๕.     นายก่อเขต   จันทเลิศลักษณ์              กรรมการ

          โดยให้คณะอนุกรรมการพิเศษ ทำการสอบสวนและรายงานการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดเผยเรื่องสื่อมวลชนรับสินบนในการนำเสนอข่าวและแทรกแซงสื่อมวลชนในการเสนอข่าว ทั้งนี้ให้ทำการสอบสวนและรายงานผลการสอบสวนต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง

การสืบสวนข้อเท็จจริง

คณะอนุกรรมการพิเศษได้นัดประชุมรวม ๗ ครั้ง ดังมีรายละเอียดดังนี้

          ครั้งแรกในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษฯได้พิจารณากำหนดแนวทางการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยที่ประชุมมีมติให้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อเท็จจริงในวันที่ ๑o กรกฎาคม ๒๕๕๔ การสอบสวนข้อเท็จจริงให้ใช้วิธีบันทึกเสียงและขอความร่วมมือจากนักวิชาการสื่อสารมวลชนให้ทำการศึกษาการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งสองพรรคในสถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบพิจารณา ในขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้นัดสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการหนังสือพิมพ์ คณะอนุกรรมการพิเศษฯจึงส่งตัวแทนเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย ปรากฏว่าขณะที่สอบสวน นายปรีชา สะอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรมในเครือเนชั่นอยู่นั้น คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯขอใช้โทรศัพท์ของนายปรีชา เพื่อนัดหมายนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา มาให้ถ้อยคำในวันที่ ๑o กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.oo น.

          วันที่ ๑o กรกฎาคม ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการพิเศษฯ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ร่วมกันสอบข้อเท็จจริงนายนิรันดร์ เยาวภา ผู้จัดการเว็บไซด์ Manager Online เวลา ๑๔.oo น. ส่วนนายวิม ที่นัดสอบสวนในเวลา ๑๖.oo น. ปรากฏว่าในเวลา ๑๒.๔๗ น. นายวิมได้โทรศัพท์โดยใช้หมายเลข o๘๑-๙๒๖-๔๔๓๓ โทรเข้าเครื่องโทรศัพท์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หมายเลข o๕๑-๕๖๗-๕๒๔๒ แจ้งว่าได้หารือฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคนหลายคนทางพรรคกำลังสอบสวนคนในพรรคอยู่ เกรงว่าหากมาให้ข้อมูล จะถูกดึงไปเกี่ยวข้องกับการเมืองขอให้ข้อมูลหลังจาก กกต. รับรองการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วและยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว สถานะของตนเองไม่สามารถนำเงิน ๒o,ooo บาท ไปโน้มน้าวสื่อมวลชนที่โดนพาดพิงซึ่งเป็นผู้ใหญ่ให้ลงข่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดนัด นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงจากนายวิม

          วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการพิเศษมีหนังสือเชิญมาให้ข้อเท็จจริง คือ บรรณาธิการข่าวการเมืองของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี (ในประเด็นสินบนสื่อ) ส่วนบรรณาธิการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ สถานีโทรทัศน์ TNN สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง ๙) (ในประแซกแทรกแซงสื่อ) ปรากฏว่านายนพดล ทิพยวาน บรรณาธิการข่าวการเมืองช่อง ๗ สี นายสุรกิจ ภิญชวนิชย์ บรรณาธิการข่าวการเมือง ช่อง ๕ นายครรชิต มั่นคงหัตถ์ รักษาการผู้อำนวยการข่าวและสื่อข่าว สทท.๑๑ และนายปฏิวัติ วสิกชาติ บรรณาธิการอาวุโสของ TNN ๒๔ มาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการพิเศษฯ ส่วนบรรณาธิการข่าวการเมืองของสถานีโมเดิร์นไนน์ ทีวี (ช่อง ๙) ไม่มาให้ข้อเท็จจริง แต่นายขจรศักดิ์ ทิพย์ทัศน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานข่าวมีหนังสือลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ไม่มีคำสั่งห้ามจากพรรคการเมืองในการนำเสนอข่าวตรงข้ามของนักการเมืองแต่อย่างใด ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวไทยได้นำเสนอทุกพรรคการเมืองตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

           นอกจากนี้คณะอนุกรรมการพิเศษฯ ได้ประสานงานขอให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รักษาการรัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี มาให้ข้อเท็จจริงแต่ได้รับแจ้งว่า จะส่งหนังสือชี้แจงมาให้คณะอนุกรรมการพิเศษฯต่อไป

          วันที่ ๒o กรกฎาคม ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการพิเศษฯมีหนังสือเชิญนางสาว ชาดา สมบูรณ์ผล และนายดาวุธ แดนมะตาม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี และช่างภาพนายอัจฉรา ภู่พัลลภ นายชรัช จรรยา และนายวรพล ล้อมวงษ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี พร้อมด้วยช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ นางสาวจันทร์สถาพร ขัตติสร นายอาจิน โพธิเจริญ และสิบเอกประจักษ์ สิงยะเมือง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ช่างภาพและเจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ มาให้ข้อเท็จจริง ปรากฏว่าคงมีเพียงนางสาวจันทร์สถาพร และนายอาจิน มาให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยได้ส่งเอกสารการเบิกจ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่แก่ คณะอนุกรรมการพิเศษฯ ส่วนนางสาวชาดา นายดาวุธ นางสาวอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล ไม่มาพบคณะอนุกรรมการพิเศษฯ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข อนุกรรมการ ได้โทรศัพท์ติดต่อนายคธาทร อัศววิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ขอให้ส่งผู้สื่อข่าวช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ แบบพิมพ์การส่งทีมผู้สื่อข่าว และช่างภาพไปปฏิบัติหน้าที่ และเอกสารการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายเงินการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะอนุกรรมการพิเศษฯได้ส่งหนังสือแจ้งนางสาวชาดา กับพวกให้มาพบคณะอนุกรรมการพิเศษฯด้วย

          วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นางสาวชาดา นายดาวุธ นางสาวอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล ไม่มาพบคณะอนุกรรมการพิเศษฯ แต่ได้ส่งรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของ นางสาวชาดา กับพวกและเอกสารการเบิกจ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่มาประกอบการ พิจารณาของคณะอนุกรรมการพิเศษฯ คณะอนุกรรมการพิเศษฯจึงมีมติให้งดการสอบสวนดังกล่าว

          วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการพิเศษฯได้สอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้สื่อข่าวการเมืองที่ไม่ประสงค์ให้เปิดเผยชื่อเกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว

          อนึ่งเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการพิเศษฯได้ขอให้นักวิชาการสื่อมวลชนทำการศึกษาผลการนำเสนอข่าวเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ในช่วงระหว่างวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ นักวิชาการสื่อสารมวลชนได้นำส่งงานผลการศึกษาดังกล่าวประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิเศษฯ

ผลการศึกษาของนักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ

          ตามที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ร้องขอให้นักวิชาการสื่อมวลชนอิสระ กลุ่มหนึ่งทำการศึกษาการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕, ช่อง ๗, ช่อง ๙, สทท. ๑๑ และทีเอ็นเอ็น ในช่วงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึง ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่อาจทำการศึกษาช่องทีเอ็นเอ็นได้ เนื่องจากเป็นระบบเคเบิลทีวี จึงไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และมิได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยการศึกษาแนวคิด ๓ แนวทางคือ แนวทางเกี่ยวกับการรายงานข่าว แนวคิดสื่อเลือกข้างและแนวทางการศึกษาความไม่เป็นกลางในสื่อ โดยมีวิธีการศึกษา ๒ ประเด็นคือ ๑.วาระข่าว ซึ่งแบ่งเป็นภาพลักษณ์ส่วนตัว ภาพลักษณ์ทางการเมือง ข่าวที่ส่งเสริมภาพลักษณ์(ทิศทางเชิงบวก) ๒.วิธีการนำเสนอข่าว แบ่งเป็นมุมภาพ หมายถึงการใช้ภาพที่ส่งเสริม ภาพลักษณ์(ทิศทางบวก) และการบั่นทอนภาพลักษณ์ (ทิศทางเชิงลบ) การให้พื้นที่แหล่งข่าวแบ่งเป็นการปล่อยเสียงแหล่งข่าวการปล่อยภาพแหล่งข่าว

          จากการตรวจสอบและจากการนำเสนอข่าวรณรงค์เลือกตั้งของสถานี โทรทัศน์ช่อง ๕,๗,๙,สทท. ๑๑ ที่คณะอนุกรรมการพิเศษมอบหมายให้คณะวิจัยอิสระด้านนิเทศศาสตร์ทำการศึกษาเพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษามาประกอบดุลยพินิจการพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิเศษในประเด็นว่า สถานีโทรทัศน์ช่องที่ถูกกล่าวอ้างถึงนั้น มีการนำเสนอข่าวของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยใช้การศึกษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

๑.     การวิเคราะห์วาระข่าว ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกประเด็นข่าว การลำดับการนำเสนอข่าวและความเป็นธรรม

๒.     วิธีการนำเสนอข่าว ซึ่งหมายถึง มุมภาพที่ใช้ประกอบข่าว การให้พื้นที่ แหล่งข่าว การปล่อยเสียง/ปล่อยภาพแหล่งข่าว

          ช่วงเวลาที่ใช้ในการศึกษาคือ ช่วงระหว่างวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่ระบุว่าเป็นวันส่งอีเมล์ฉบับที่สองที่มีการกล่าวอ้างถึงการแทรกแซงสื่อโทรทัศน์ของพรรคประชาธิปัตย์ ถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลือกตั้ง รวมช่วงเวลาการศึกษาทั้งสิ้น ๙ วัน และเป็นการเลือกศึกษาเฉพาะรายการข่าวหลัก ซึ่งหมายถึงรายการของสถานีที่ถูกอ้างถึงทุกช่องที่มีการรายงานเหตุการณ์ สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเช้า ๐๕.๓๐ – ๐๘.๓๐ น.ช่วงเที่ยง ๑๑.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. และช่วงเย็น – ค่ำ ๑๗.๐๐ –๒o.๐๐ น. ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ TNN เนื่องจากไม่สามารถจัดหาเทปรายการได้ครบถ้วนเพียงพอที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการศึกษาได้

          การศึกษาใช้แนวคิด ๓ แนวคิดหลักเป็นแนวทางการสรุปผล คือ แนวคิดเกี่ยวกับหลักการรายงานข่าวที่ควรรายงานการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา ไม่นำเสนอเนื้อหาที่มีทิศทางการสร้างชื่อเสียงที่ดีหรือไม่ดีต่อพรรคการเมืองหนึ่ง แนวคิดสื่อเลือกข้างที่สามารถแบ่งแยกกลุ่มคนออกเป็นกลุ่ม สร้างอุดมการณ์ให้สมาชิกมีความคิดหรือแสดงพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน เพื่อให้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง และแนวทางการศึกษาความไม่เป็นกลางในสื่อ ที่มุ่งวิเคราะห์ประเด็นด้านการใช้ภาษาในการรายงาน การคัดเลือกประเด็นข่าวทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ รวมถึงอิทธิพลของผู้สนับสนุนสถานีที่ปรากฏในการรายงานข่าว

วิธีการวิเคราะห์วาระข่าว ใช้การวิเคราะห์จากการสรุปประเด็นทั้งหมด ลำดับก่อนหลังของการนำเสนอข่าวการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นที่มีการพาดพิง ในขณะที่การวิเคราะห์วิธีการนำเสนอ ใช้การวิเคราะห์จากการคัดเลือกภาพ ประกอบข่าว การให้พื้นที่แหล่งข่าวทั้งภาพเสียง หรือต่อต้านพรรคการเมืองอย่างไร จากนั้นนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้ง ๒ ประเด็นของสถานีทุกช่องมาเปรียบเทียบกับสถานีช่อง ๓ และไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสถานีที่ไม่ถูกพาดพิงว่าถูกการแทรกแซงการจากพรรคการเมืองทั้ง ๒ พรรค ผลจากการศึกษาสถานีโทรทัศน์ที่ถูกร้องเรียนทั้ง ๔ ช่อง คือ ช่อง ๕,๗,๙ และช่อง สทท.๑๑ สรุปได้ว่า

ในด้านการให้พื้นที่เวลาออกอากาศ ช่องที่ให้พื้นที่แก่ พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย อย่างชัดเจนคือช่อง ๑๑ ร้อยละ ๕๖ : ๔๔ ในขณะที่ช่อง ๗ ให้พื้นที่เวลาแก่พรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจนเช่นกัน คือร้อยละ ๔๕ : ๕๕ แต่เมื่อพิจารณาพื้นที่เวลาการออกอากาศโดยภาพรวมทั้ง ๔ ช่องแล้ว พบว่า พื้นที่เวลาการออกอากาศของพรรคพรรคประชาธิปัตย์ต่อพรรคเพื่อไทย จะแตกต่างกันไม่มากนักคือ ร้อยละ ๕๒:๔๘

ในด้านทิศทางข่าว ช่องที่เน้นข่าวเชิงบวกแก่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย คือช่อง ๕ (ร้อยละ ๓๑:๑๘) และช่อง ๙ (ร้อยละ ๔๖:๓๑) ในขณะที่ช่อง ๗ เน้นข่าวเชิงบวกแก่พรรคเพื่อไทย มากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ ๒๒:๑๔) ในขณะเดียวกันก็พบว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะให้ลำดับการนำเสนอข่าวแก่พรรคประชาธิปัตย์ก่อนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังคงมีความเป็นกลางในด้านการให้พื้นที่แก้ต่าง เมื่อถูกพาดพิงกับพรรคทั้งสอง และเมื่อมีการนำเสนอภาพก็เป็นในลักษณะเชิงบวกต่อพรรคทั้งสองเช่นกัน ส่วนการนำเสนอเสียงพบว่า ช่อง ๕ และช่อง ๑๑ ให้พื้นที่แก่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย ชัดเจน ในขณะที่ ช่อง ๗,๙ ให้พื้นที่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทยเล็กน้อย

          เมื่อคณะวิจัยนำผลการศึกษามาตอบคำถามว่าสถานีที่ศึกษามีแนวโน้มในการส่งเสริม สนับสนุน หรือต่อต้าน พรรคการเมืองอย่างไรนั้น จึงสรุปโดยภาพรวมได้เพียงว่า ช่อง ๗ ให้พื้นที่เวลาการออกอากาศ และเน้นข่าวเชิงบวกแก่พรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ช่อง ๑๑ ก็ให้พื้นที่เวลาการออกอากาศ พื้นที่นำเสนอเสียงแก่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย และช่อง ๕,๙ เน้นข่าวเชิงบวกแก่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย ส่วนผลที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้ง ๒ ประเด็น ของสถานีทุกช่องมาเปรียบเทียบกับสถานีช่อง ๓ และไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสถานีที่ไม่ถูกพาดพิงว่าถูกการแทรกแซงการจากพรรคการเมืองทั้ง ๒ พรรค นั้น ผู้ศึกษายังไม่สามารถวิเคราะห์ผลได้อย่างสมบูรณ์ทุกด้านจึงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้ด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูล และเวลาในการศึกษา

          ดังนั้น เมื่อนำผลสรุปโดยภาพรวมของคณะวิจัยมาตอบคำถามประเด็นที่คณะอนุกรรมการพิเศษฯตั้งไว้ว่าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องที่ถูกกล่าวอ้างถึง มีการนำเสนอข่าวของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ นั้น คณะวิจัยจึงยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากความจำกัดในการวิเคราะห์

ข้อพิจารณา

         ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๔ นายนิรันดร์ เยาวภา ผู้ดูแลเว็บไซด์ผู้จัดการได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์(อีเมล์) จากอีเมล์กลางของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ mtr_politics@yahoo.com ซึ่งได้รับข่าวจากแหล่งข่าว ส่งจากผู้ใช้อีเมล์ว่า sailab.tabwan@gmail.com ใช้หัวข้อเรื่องว่า “ข้อมูลสำคัญ” แนบไฟล์ zip ซึ่งมีอีเมล์ของ นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา จำนวนสองฉบับมาด้วยโดยมีชื่อผู้รับอีเมล์อีก ๒๑ ราย ซึ่งในอีเมล์ดังกล่าวระบุว่า นายวิม ได้ดูแลนักหนังสือพิมพ์ทุกวัน นายวิม ได้ดูแลไปแล้วที่ละสองหมื่นบาท ส่วนผู้สื่อข่าวทีวีใช้วิธีเลี้ยงอาหารบ้าง เลี้ยงสุราบ้าง ไม่มีผู้ใดเรียกร้องอะไร ยกเว้นช่อง ๗ ที่ขอไวน์และสุรา ส่วนฉบับที่ ๒ ระบุว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก้าวก่ายการทำงานของเอเยนซี ที่พรรคประชาธิปัตย์จ้างมาด้วยการสั่งให้ช่อง ๙ ทีเอ็นเอ็น ช่อง ๕ และช่อง ๑๑ หยุดส่งทีมติดตามทำข่าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยนายนิรันดร์ นำเสนอข่าวนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตรวจสอบข่าวนี้  ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นายวิม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า นายวิม มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ามีผู้เข้าไปใช้อีเมล์ของนายวิมส่งออกไป ซึ่งอีเมล์ดังกล่าวเปิดไว้เพื่อเป็นสาธารณะสำหรับสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคเพื่อไทย ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องซื้อสื่อ เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่ที่สื่อต่างๆให้ความสนใจทำข่าวอยู่แล้ว จากการสอบถามนายวิม ยืนยันว่ามีกลุ่มบุคคลต้องการทำลายพรรคเพื่อไทย โดยการเจาะเข้าถึงระบบข้อมูลส่วนตัวของนายวิมแล้วส่งไปยังสื่อต่างๆเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดพรรคเพื่อไทย

การสอบสวนมีประเด็นต้องพิจารณาคือ

๑.     จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา หรือไม่

๒.     นายวิม ได้เลี้ยงอาหารเลี้ยงสุราแก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ และผู้สื่อข่าวจาก สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ได้ขอไวน์และสุราจากนายวิมหรือไม่

๓.     นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรีได้แทรกข่าวการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๕ , ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ และทีเอ็นเอ็น หรือไม่

คณะอนุกรรมการพิเศษสอบสวนข้อเท็จจริง สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นควรพิจารณาประเด็นดังกล่าว ตามลำดับต่อไปนี้

ประเด็นที่ ๑ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา หรือไม่นั้น เห็นว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องส่วนตัวของเจ้าของอีเมล์แต่ละคน ซึ่งจะมีชื่อผู้ใช้อีเมล์และการเข้าไปในอีเมล์ต้องใช้รหัสสลับของเจ้าของอีเมล์ การที่นายวิมอ้างว่า อีเมล์ดังกล่าวเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปดูกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคเพื่อไทย นั้น นายวิมควรใช้วิธีการส่งกำหนดการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยให้ถึงผู้สื่อข่าวทุกคน มากกว่าการรอให้ผู้สื่อข่าวแต่ละคนมาเปิดอีเมล์ของนายวิมเพื่อดูกำหนดการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นที่จะให้ผู้สื่อข่าวทราบกำหนดการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เช่น การโทรศัพท์ การโทรสาร และการส่งอีเมล์เพื่อแจ้งกำหนดการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหาในอีเมล์แล้วจะเห็นได้ว่ามีเนื้อความสอดคล้องต้องกันและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนที่ส่งอีเมล์ฉบับนี้ต้องเป็นผู้ที่ทราบเรื่องราวในพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี และมีการระบุชื่อเล่น ของนักหนังสือพิมพ์ ฉบับต่างๆ หลายฉบับ ซึ่งทราบกันดีในวงการสื่อสารมวลชนว่า มีบุคคลดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆดังกล่าวจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนอีเมล์ดังกล่าวต้องรู้จักนักหนังสือพิมพ์จริง ประกอบกับนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่า นายวิม ยืนยันว่ามีกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำลายพรรคเพื่อไทยโดยการเข้าไปเจาะระบบข้อมูลส่วนตัวของนายวิมแล้วส่งไปยังสื่อต่างๆ ซึ่งแสดงว่าอีเมล์ของนายวิมมิได้เปิดไว้ให้สื่อมวลชนเข้าไปดูกำหนดการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน มิฉะนั้นคงไม่ต้องมีการเจาะระบบข้อมูลของนายวิม

          อย่างไรก็ตาม อีเมล์ดังกล่าว นายนิรันดร์ เยาวภา อ้างว่าได้รับจากผู้ใช้ชื่อ sailab.tabwan@gmail.com มิได้ส่งจากนายวิมโดยตรง แสดงว่าอีเมล์ดังกล่าวต้องอยู่ที่ผู้ใช้อีเมล์ว่า sailab.tabwan@gmail.com เป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งก่อนที่จะส่งแก่ผู้รับอีเมล์อีก ๒๑ ราย ซึ่งคณะอนุกรรมการพิเศษฯ ไม่อาจทราบชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้อีเมล์ sailab.tabwan@gmail.com และผู้รับอีเมล์อีก ๒๑ รายดังกล่าว จึงไม่อาจเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอีเมล์ดังกล่าวมาสอบสวนข้อเท็จจริงได้

         คณะอนุกรรมการพิเศษฯจึงมีข้อสังเกตว่า ผู้ใช้อีเมลว่า sailab.tabwan@gmail.com จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในอีเมล์ดังกล่าว ก่อนที่จะส่งแก่นายนิรันดร์ หรือไม่ และอีเมล์ที่ส่งแก่ผู้รับอีเมล์อีก ๒๑ ราย จะมีเนื้อหาอย่างเดียวกับฉบับที่นายนิรันดร์ เยาวภาได้รับหรือไม่

ประเด็นที่ ๒ นายวิม ได้เลี้ยงอาหารเลี้ยงสุราแก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ และผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ได้ขอไวน์และสุราจากนายวิม หรือไม่

        คณะอนุกรรมการพิเศษฯ พบว่า นายวิม ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนปฏิเสธว่า ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ไม่ได้ขอไวน์และสุราจากนายวิม ส่วนนางสาวชาดา ภู่พัลลพ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี นายชรัช จันดา ช่างภาพ และนายวรพล ล้อมวงษ์ ผู้ช่วยช่างภาพ ซึ่งเป็นพยานสำคัญในกรณีนี้ไม่ยอมมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการพิเศษฯ ทำให้คณะอนุกรรมการพิเศษฯไม่อาจได้ข้อเท็จจริงจากประจักษ์พยานสำคัญ คงมีเพียงนายนภดล พิทยวาน บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ที่ให้ความร่วมมือกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ด้วยการมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการพิเศษฯ แต่ก็ยังมิใช่ประจักษ์พยานสำคัญในกรณีนี้ โดยนายนภดลได้ส่งรายงานของนางสาวชาดา นางสาวอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล ต่อคณะอนุกรรมการพิเศษฯ  ซึ่งเป็นหนังสือรายงานต่อผู้จัดการฝ่ายข่าว เมื่อพิจารณาจากรายงานดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า นางสาวชาดา รายงานลงวันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่าได้รับมอบหมายให้ติดตามความเคลื่อนไหวรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ

        นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งนางสาวชาดา ได้ทำหน้าที่ทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมายจากนายนภดล ทิพยวาน ทุกประการ ส่วนนางอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล รายงาน ลงวันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่าได้รับมอบหมายจาก นายนภดล ทิพยวาน ให้ติดตามทำข่าวพรรคเพื่อไทยเพื่อเสริมทีมหลัก พร้อมทั้งติดตามพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคประชาสันติ และงานสัมมนาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา อย่างเคร่งครัดทุกประการ ซึ่งไม่มีข้อความยอมรับหรือปฏิเสธเกี่ยวกับการขอไวน์ และสุรา จากนายวิม ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นางสาวชาดา นางสาวอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล ได้ขอไวน์และสุราจากนายวิม ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี มิได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีนี้ เพียงแต่ให้นางสาวชาดา นางสาวอัจฉรา นายชรัช และนายวรพล รายงาน เป็นหนังสือเท่านั้น และมีคำสั่งให้ถอนทีมงานทั้งหมดออกจากพรรคเพื่อไทย คงเหลือนางสาวชาดา ซึ่งมีความสนิทสนมกับแหล่งข่าวสำคัญในพรรคเพื่อไทย ยังคงประจำอยู่ที่พรรคเพื่อไทย เนื่องจากต้องการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเชิญนางสาวยิ่งลักษณ์ เข้ามาสัมภาษณ์หลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้ว แสดงให้เห็นว่านางสาวชาดา เป็นกำลังสำคัญของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี เมื่อไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า นางสาวชาดา นางสาวอัจฉรา นายชรัส และนายวรพล ได้ขอไวน์และสุราจากนายวิม ประกอบกับสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี มิได้เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงไม่อาจดำเนินการใดๆในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้คณะอนุกรรมการพิเศษฯ ตั้งข้อสังเกตว่าในอดีต (เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒) เคยปรากฏจากการรายงานของสื่อมวลชนว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งขอเรี่ยรายเงินจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยในงานเลี้ยงปีใหม่ เพื่อมอบให้แก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง แต่ก็มีการปฏิเสธไปแล้วเช่นกัน

         ดังนั้นในประเด็นที่ว่า นายวิม ได้เลี้ยงอาหารและสุราแก่ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หรือไม่นั้น แม้จะไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนนี้ก็ตาม แต่จากการสอบสวนผู้สื่อข่าวพบว่า ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการรับเลี้ยงอาหารและสุราจากแหล่งข่าวเป็นเรื่องปกติทั่วไป แสดงให้เห็นได้ว่าพรรคการเมืองก็ต้องเคยเลี้ยงอาหารและสุราแก่ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ ๓ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรีได้แทรกแซงการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๕,ช่อง ๙,ช่อง ๑๑ และทีเอ็นเอ็น หรือไม่

          นายสุรกิจ ภิญชวนิชย์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ นายขจรศักดิ์ ทิพย์ทัศน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สายงานข่าว บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ช่อง ๙ นายครรชิต มั่นคงหัตถ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่สายงานข่าวและสื่อข่าว สทท.๑๑ และนายปฏิวัติ วสิกชาติ บรรณาธิการอาวุโส สถานีข่าวทีเอ็นเอ็น ๒๔ มาให้ถ้อยคำสอบสวน และรับฟังได้ว่า ไม่มีนักการเมืองคนใดมาสั่งการห้ามส่งทีมข่าวติดตามทำข่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เมื่อพิจารณาจากคำสั่งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ที่ให้ผู้สื่อข่าวช่างภาพและเจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ไปทำข่าวการเลือกตั้ง ในช่วงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ ยังมีการส่งทีมข่าวไปทำข่าวการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ข้อความที่ปรากฏในอีเมล์ที่ระบุว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ก้าวก่ายทำงานของบริษัทเอเยนซี่ ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าจ้างมาทำการประชาสัมพันธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการสั่งให้ช่อง ๙, ทีเอ็นเอ็น, ช่อง ๕, และช่อง ๑๑ ให้หยุดส่งทีมงานติดตามทำข่าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงเป็นข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ได้จากการสอบสวน

          อย่างไรก็ตาม จากการที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ร้องขอให้นักวิชาสื่อสารมวลชนอิสระทำการศึกษาการนำเสนอข่าวเลือกตั้งของสถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง และปรากฏว่าการศึกษาพบข้อจำกัดทำให้ไม่อาจสรุปได้ว่าสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวมีการนำเสนอข่าวการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ นั้น เมื่อคณะอนุกรรมการพิเศษฯ นำวิธีและผลการศึกษาของนักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระมาพิจารณาประกอบกับข้อมูลที่ได้รับจากกองบรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน ในเรื่องวิธีการนำเสนอ และการวิเคราะห์วาระข่าว แล้วพบว่า ในภาคปฏิบัติ การปฏิบัติงานของกองบรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการข่าว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น ความน่าสนใจของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและสมควรได้รับการนำเสนอในขณะนั้นมีมากหรือน้อยเพียงใด ข้อจำกัดด้านเวลาการออกอากาศของข่าวแต่ละข่าว ข้อจำกัดด้านกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันกับเวลาที่กำหนดให้ออกอากาศ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยข้อจำกัดต่างๆนี้ มีความจำเป็นที่คณะอนุกรรมการพิเศษฯ จะต้องหยิบยกขึ้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องด้วย

        คณะอนุกรรมการพิเศษฯ จึงเห็นควรสรุปผลการสอบสวนว่า จากผลการศึกษายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าสัดส่วนการนำเสนอข่าวของพรรคการเมืองในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเกิดขึ้นจากความจงใจหรือตั้งใจจะให้คุณให้โทษพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดๆ และยังไม่พบหลักฐานใดๆที่จะยืนยันว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเนื้อหาในอีเมล์ฉบับต้นเหตุทั้งสองฉบับเป็นความจริงและน่าเชื่อถือเพียงใด แต่คณะอนุกรรมการพิเศษฯก็พบข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีความพยายามจากทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะมีอิทธิพลในการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวด้วยวิธีการที่แยบยลหลายประการ ทั้งการสร้างความสนิทสนม การเลี้ยงอาหารและสุรา  การมีกิจกรรมสันทนาการตลอดจนการให้ความสนับสนุนและความสะดวกด้านการทำข่าวแก่บุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการทำข่าวภาคสนามและในกองบรรณาธิการ รวมถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกของข่าวต่างๆ  คณะอนุกรรมการพิเศษฯพิจารณาแล้วเห็นว่าการเสนอให้ผลประโยชน์ต่างๆของแหล่งข่าวในแวดวงราชการและการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและแนบเนียน ไม่ใช่การหยิบยื่นสินบน หรือผลประโยชน์โดยตรง เช่น การไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆเพื่อพบปะกับแหล่งข่าว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวโทรทัศน์ปฏิบัติตนใกล้ชิดสนิทสนมกับแหล่งข่าวจนเกินความจำเป็น ประกอบกับผู้ประกอบวิชาชีพยังมีทัศนคติต่อการรับเลี้ยงสุราอาหารจากแหล่งข่าวว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป จึงอาจทำให้ตกเป็นจำเลยของสังคมเมื่อเกิดข้อกล่าวหาในลักษณะนี้ได้โดยง่าย

         คณะอนุกรรมการพิเศษฯ จึงขอเรียนเสนอแนะต่อสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่า ควรจัดให้มีคู่มือปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การปฏิบัติตนต่อแหล่งข่าว การรับเลี้ยงสุราอาหารหรือของขวัญของกำนัลจากแหล่งข่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากสังคมมากขึ้นต่อไป