‘เดลินิวส์’รับแล้วใบอนุญาตทำทีวี ยิงสัญญาณดิจิตอลมั่นใจก.พ.แจกหมด
‘เดลินิวส์’รับแล้วใบอนุญาตทำทีวี ยิงสัญญาณดิจิตอลมั่นใจก.พ.แจกหมด
Post by Chatsayam Momkaew Thursday, 31 January 2013 11:44
http://www.mediamonitor.in.th/
กสท.มอบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ประ เภทช่องรายการและโครงข่าย แก่วงการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม กว่า 632 ใบอนุญาต ถือเป็นประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย “นที ศุกลรัตน์” รองประธาน กสทช. คาดจะพิจารณาให้ได้ทั้งหมดภายในเดือน ก.พ. เปรยเร่งขับเคลื่อนดูแลเนื้อหารายการไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการหรือโทรทัศน์ในกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ ประเภทเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม จำนวน 632 ใบอนุญาต โดยประกอบด้วย ใบอนุญาตเพื่อให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ช่องรายการ) จำนวน 301 ใบอนุญาต และใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น จำนวน 331 ใบอนุญาต
โดยบรรยากาศการรับมอบใบอนุญาตดังกล่าว มีช่องรายการ อาทิ เดลินิวส์ทีวี โดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ รับมอบใบอนุญาตจากนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา, จีเอ็มเอ็มแซด, เอเอสทีวี, เอเชียอัพเดต, ทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ส่วนใบอนุญาตโครงข่าย อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มารับมอบในครั้งนี้
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช. และประธาน กสท. เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการมอบใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ในรอบกว่า 50 ปี โดยคณะกรรมการไม่ใช่คลื่นความถี่ใช้เวลาพิจารณาเอกสารคำขอประมาณ 1 เดือนเศษ ซึ่งยังมีผู้ประกอบการช่องรายการที่เอกสารสถานะทางการเงิน ลิขสิทธิ์รายการ ยังไม่พร้อม และโครงข่ายยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของสถาปัตยกรรมต้นทางยังปลายทาง และขอบเขตการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประมาณ 400 ราย คาดว่าจะสามารถพิจารณาแล้วเสร็จช่วงประมาณปลายเดือน ก.พ. นี้
“หลังจากนี้ไปเมื่อผู้ประกอบการรับใบอนุญาตช่องรายการมีอายุ 1 ปี และผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของ กสท. ที่กำหนดไว้ตามประกาศ แล้วนำเสนอเนื้อหา ข้อมูล ห้ามมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่เกินจริงจนสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ในขณะที่ช่องการเมืองต่าง ๆ ขอให้ไปปรับปรุงเนื้อหา วาจา ที่สร้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม ก็จะต่ออายุให้เพิ่มอีก 14 ปี ส่วนโครงข่ายมีอายุ 15 ปี ส่วน กสท. จะขับเคลื่อนกำกับดูแลด้านเนื้อหาที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคต่อไป” พ.อ.ดร.นทีกล่าวและว่า การสอดส่องดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตมี 2 เครือข่าย คือ สื่อกำกับดูแลกันเอง และประชาชนช่วยสอดส่องดูแล หากพบกระทำผิดสามารถโทรฯร้องเรียน 1200 และหากกระทำผิดจริงจะมีโทษตักเตือน ปรับตามกฎหมายปกครองหลักหมื่นบาท จนถึงกฎหมายอาญาปรับ 5 ล้านบาทและจำคุก 5 ปี.
ที่มา: เดลินิวส์ (Th) Thursday, January 31, 2013