Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

จี้กสทช.ดึงสังคมออกเกณฑ์อนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ

Author by 25/03/13No Comments »

นักวิชาการสื่อ จี้ กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นดึงภาคประชาสังคม ร่วมออกเกณฑ์ใบ อนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ ชี้ เอ็มโอยูแจก คลื่นไทยพีบีเอส 2 ช่อง “ไม่แฟร์” ด้าน “สุภิญญา”เสนอกทค. ใช้โมเดลไทยพีบีเอส ตั้งคณะกรรมการนโยบายคุม ป้องกันอิทธิพลการเมือง “ประวิทย์”ชงกำหนดเพดานเวลาโฆษณา วานนี้ (21 มี.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนา “ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค ทำอย่างไร ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง” นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ความคาดหมายของประชาชนในการให้มีทีวีดิจิทัล ไม่ใช่เพียงการอัพเกรดเทคโนโลยี แต่เป็นการเพิ่มจำนวนเจ้าของสื่อ และให้มีเนื้อหาต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะ 12 ช่อง จากทีวีดิจิทัลทุกประเภท ทั้งหมด 48 ช่อง “หากเกณฑ์ในการคัดเลือก (Beauty Contest) ไม่ชัดเจน หน่วยงานของรัฐอาจเหมาไปทั้งหมด อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ อาจจะมาขอช่อง ซึ่งสามารถทำได้ แต่อยากให้มีรูปแบบการบริหารต่างไปจากเดิม ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับได้ช่อง 11 เพิ่มขึ้นมาหลายๆ ช่อง ซึ่งข้อเสนอของตนคือให้แต่ละช่องมีคณะกรรมการนโยบายเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส” นางสาวสุภิญญา กล่าว ในการประชุม กสท. วันที่ 25 มี.ค. นี้ จะเสนอให้ออกเกณฑ์ว่า หน่วยงานของรัฐที่ได้ช่องทีวีดิจิทัลสาธารณะควรจะมีการตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย” ขึ้นมาเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยให้มีสัดส่วนคนนอกเข้ามาร่วมด้วย มิเช่นนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นมาทุกกรณีจะต้องให้อธิบดี ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจ ท้ายที่สุด ทีวีดิจิทัลสาธารณะ ช่องต่างๆ ก็จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้าราชการประจำ และนักการเมือง ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ต้องการเสนอ กสท. ใน 2 เรื่อง เรื่องแรก ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้หน่วยงานของรัฐผูกขาดได้ทีวีดิจิทัลสาธารณะไปทั้งหมด นอกจากนี้ควรกำหนดให้มีกลไกซึ่งสาธารณชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ เรื่องที่สอง ควรหาข้อยุติว่าทีวีดิจิทัลสาธารณะสามารถโฆษณาหารายได้ ได้เท่าใด เพราะฟรีทีวีปัจจุบัน แม้จะให้โฆษณาได้เพียงชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาที แต่มีกำไรปีละหลายหมื่นล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าควรจะให้มีโฆษณาต่ำที่สุด ในระดับที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ดึงภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม นางเอี้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาสังคมมีความกังวลว่า กสทช. จะไม่เปิดโอกาสให้สังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและร่วมออกแบบหลักเกณฑ์ทีวีดิจิทัลสาธารณะที่จะออกใบอนุญาตใหม่จำนวน 12 ช่อง ซึ่งถือว่าขัดเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติใบอนุญาต หรือ บิวตี้ คอนเทสต์ ในการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิทัลสาธารณะ ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จาก กสทช. และการจัดสรรดังกล่าวจะไม่มีความหมายหากภาคประชาสังคมไม่มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ด้าน นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬา กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช. ยังไม่กำหนดคำนิยามที่ชัดเจนของสื่อทีวีดิจิทัลสาธารณะประเภทต่างๆ ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายมายื่นขอใบอนุญาต ทั้งนี้มองว่าแนวทางลงนามบันทึกเบื้องต้น หรือ “เอ็มโอยู” ระหว่าง กสทช. และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิทัลสาธารณะให้กับไทยพีบีเอส จำนวน 2 ช่อง ภายใต้เงื่อนไข คืนคลื่นอนาล็อก ภายใน 3 ปี ไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ถูกต้องในการพิจารณาให้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะกับไทยพีบีเอส เพราะยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับในประเภทต่างๆ อีกทั้งถือว่าไม่ยุติธรรมกับผู้รับใบอนุญาตที่จะมายื่นขอใบอนุญาตรายอื่นๆ คุ้มครองผู้บริโภค งบน้อย-คนน้อย ขณะเดียวกัน นายชัยรัตน์ แสงอรุณ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะติดขัดในเรื่องงบประมาณ บุคลากร ซึ่งมองว่า “น้อยกว่า” งานด้านโทรคมนาคมทั้งที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภค ทั้งกรณีโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี บ่อยครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอกจากนี้บทบาทของคณะอนุกรรมการฯ จากเดิมมีอำนาจหน้าที่ 9 ด้าน กลับถูกปรับลดเหลือเพียง 3 ด้านเท่านั้น จึงยากต่อการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้ นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคปีละประมาณ 4,000-5,000 เรื่อง เช่น กรณีการเก็บค่าบริการโทรศัพท์นาทีละ 99 สตางค์ การส่งเอสเอ็มเอสรบกวนผู้ใช้บริการ หรือ พรีเพด ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การร้องเรียนของผู้บริโภคต่อ กสทช. ยากขึ้น เพราะมีการเรียกขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้เรื่องร้องเรียนกว่า 900 เรื่อง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตามเงื่อนระยะเวลา 30 วันที่กฎหมายกำหนด มีเพียง 16% เท่านั้นที่แก้ไขได้ เพราะการดำเนินงานที่ล่าช้าของสำนักงาน ประกอบกับไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคไม่พัฒนา เกิดจากการจัดสรรงบประมาณน้อย จากเดิมเคยได้ปีละ 200 ล้านบาท เหลือเพียง 60 ล้านบาทในปี 2555 โดยใช้ได้จริง 15 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่จำนวนพนักงานรับเรื่องเรียนมีเพียง 15 คน ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเรื่องร้องเรียนที่มีถึง 5,000 เรื่อง บ่งชี้ว่า กสทช. ไม่ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในเชิงงบประมาณ บุคลากร และการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด นอกจากการสร้างขั้นตอนในการทำงานที่ยุ่งยากเพิ่มเติม ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคล่าช้า “กสทช.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่โยนหรือโทษความผิดให้ผู้อื่น ซึ่ง กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน แต่หลายครั้งมักอ้างว่าติดขัดกลไกในการแก้ไขปัญหาเสมือนระบบราชการ จำเป็นต้องปรับระบบองค์กรใหม่ก่อน” นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า จากปัญหางบประมาณ บุคลากร และการกำกับดูแลของ กสทช. ที่ไม่ชัดเจน ยากที่ปีนี้จะเป็นปีทองสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากจะให้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศ คงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย แต่ภาคประชาสังคมมองว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลักอย่างฟรีทีวี เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เข้าถึงสิทธิผู้บริโภค ส่วนการเชื่อมโยงกับวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีนั้น อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ที่มา : http://www.mediamonitor.in.th/main/news/2011-06-21-07-29-43/2075-จี้กสทช-ดึงสังคมออกเกณฑ์อนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ.html