ไทม์ไลน์ดิจิทัลทีวี (1) : ชวน”พลังสังคม”ร่วมจับตา
ไทม์ไลน์ดิจิทัลทีวี (1) : ชวน”พลังสังคม”ร่วมจับตา
คิดใหม่ วันอาทิตย์ :กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ http://bit.ly/WclBTq
โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ
นับจากนี้เป็นต้นไปกระบวนการเกิดขึ้นของ “ดิจิทัลทีวี” ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กสทช.) กำลังอยู่ในอัตราเร่ง อัตราความเร็วน่าจะยิ่งกว่า 3 G ที่กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ไปต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหลายภาคส่วนของสังคมผมลองไล่ไทม์ไลน์ในปี 2556 รู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ปีเดียว ซึ่งจะทำให้”ภูมิทัศน์สื่อ”( Media Landscape)ของประเทศไทยเปลี่ยนจาก”ผูกขาด”ไม่กี่รายไปสู่การแข่งขันของผู้เล่นรายใหม่อีกจำนวนมาก
แต่ถ้าหากสังคมยังละเลยไม่ใส่ใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ปล่อยให้การกำหนดเงื่อนไขประมูลดิจิทัลทีวีทั้งช่องรายการและโครงข่ายอยู่ในอุ้งมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) 5 คน ภูมิทัศน์สื่อของประเทศไทยจะเปลี่ยนจาก”กึ่งผูกขาด”ไปสู่”ผูกขาดเบ็ดเสร็จ”ที่ไม่มีวันแก้ไขได้อีกแล้ว จงอย่าไว้วางใจปล่อยให้กสท.5 คนใช้”อำนาจ”ชี้เป็นชี้ตายอนาคตโทรทัศน์ประเทศไทยแต่เพียงลำพังเป็นอันขาด
มกราคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.)ได้อนุมัติไป 2 เรื่องใหญ่คือ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.การทดลองออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของฟรีทีวี 6 ช่องโดยใช้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่ายใหญ่และการอนุมัติออกใบอนุญาตชั่วคราวการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
แล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ได้จัดงานใหญ่มอบใบอนุญาตไปในครั้งเดียวมากถึงกว่า 600 ใบอนุญาตที่ถือเป็นการเปิดศักราชอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยที่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการให้กับสถานีโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มากถึงกว่า 300 สถานี นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน 6 ช่องที่มีมานานมากๆ แม้ว่าจะแจกใบอนุญาตไปมากขนาดนี้ยังมี”คำขอกิจการโทรทัศน์”ตกค้างยังไม่ได้รับการอนุมัติอีกกว่า 300 คำขอ
รวมแล้วน่าจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในรูปแบบต่างๆที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประมาณ 1,000 ใบอนุญาต แยกเป็นช่องรายการโทรทัศน์(ผ่านดาวเทียม,ผ่านเคเบิลทีวี)ประมาณ 500 ช่อง,ใบอนุญาตแบบโครงข่าย(ผู้ผลิตจำหน่ายจานดาวเทียม,เคเบิลทีวี,แพลทฟอร์ม)ประมาณ 500 ใบอนุญาต
กุมภาพันธ์ เปิดฉาก 1 ก.พ.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.อีกท่านหนึ่งในฝั่งบอร์ดแคสต์เป็นประธานจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ภาคธุรกิจ ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่จะชี้ทิศทางอนาคตของการประมูลดิจิทัลทีวีได้เลย
มีนาคม กสท.จะเปิดให้ยื่นคำขอใบอนุญาตประเภทโครงข่ายสำหรับดิจิทัลทีวีที่น่าจะลงตัวแล้วว่ามีทั้งหมด 6 โครงข่ายที่น่าจะประกอบด้วยช่อง 5,ช่อง 9 , ช่อง 11และไทยพีบีเอส
เมษายน ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ 3 รายใหญ่ที่ได้ใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์น่าจะมีความพร้อมเปิดให้บริการโทรศัพท์ 3G อย่างเต็มรูปแบบในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ที่คงจะทำให้การสื่อสารแบบไร้สายมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงที่จะทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น คอนเทนท์ในรูปแบบของโทรทัศน์หรือวิดีโอจะได้ประโยชน์จากเครือข่าย 3 G โดยตรงเพราะทำให้สามารถส่งผ่านคอนเทนท์ได้อย่างรวดเร็วทันใจผู้ชมผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ต
พฤษภาคม กสท.จะเปิดให้ยื่นประมูล ดิจิทัลทีวีแบบบิวตี้คอนเทสต์ ในกิจการบริการสาธารณะ 3 ประเภท จำนวน 12 ช่อง
กรกฎาคม กสท.จะเปิดให้ยื่นประมูลดิจิทัลทีวีแบบราคาสูงสุดกิจการบริการธุรกิจ 3 ประเภท จำนวน 24 ช่อง
ธันวาคม กสท.จะเปิดให้ยื่นประมูลดิจิทัลทีวีกิจการบริการชุมชน จำนวน 12 ช่อง
ถ้าหากกระบวนการประมูลดิจิทัลทีวีของกสทช.ผ่านพ้นไปด้วยดีตามแผนที่ได้วางไว้ไม่สะดุดหรือถุกเตะตัดขาจากผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งนี้
ปีหน้า 2557 ภูมิทัศน์สื่อของประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ”บรอดแคสติ้ง”ในรูปแบบ Supply Chain ที่จะทำให้ขนาดอุตสาหกรรมนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่า
ภาคอุตสาหกรรม โรงงานผลิตโทรทัศน์ที่สามารถดูดิจิทัลทีวี, กล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวี,อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับการรับชมดิจิทัลทีวี,การลงทุนอุปกรณ์และโครงข่ายดิจิทัลทีวี ฯลฯ
ภาคผู้ผลิตรายการ ช่องรายการมีมากขึ้นย่อมต้องการ”บุคลากร”เพื่อผลิตเนื้อหารายการป้อนดิจิทัลทีวี 48 ช่อง, ทีวีดาวเทียมอีกกว่า 200 ช่อง , ทีวีที่อยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆอีกร่วม 200 ช่อง
ภาคธุรกิจโฆษณา เอเจนซี่โฆษณาและบริษัทย่อมมีทางเลือกมากขึ้นในการซื้อโฆษณาเพื่อไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้นและสามารถวัดผลผู้ชมจากช่องดิจิทัลทีวีและทีวีดาวเทียมได้ Media Inflation น่าจะลดลง
ภาคการศึกษา ความต้องการบุคลากรในแต่ละห่วงโซ่ของ Supply Chain จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเพื่อรองรับการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของช่องรายการที่เพิ่มขึ้น สถาบันการศึกษาเตรียมการรองรับไว้อย่างไร
ภาคประชาสังคม การเกิดขึ้นของดิจิทัลทีวีอีก 48 ช่องที่เป็นของสาธารณะ 12 ช่องและชุมชน 12 ช่องน่าจะทำให้”การถ่วงดุล”ของเนื้อหาในเชิงคุณภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าจะมองเห็นด้านดีของกระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ แต่ในฐานะสื่อผมยังขอมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนน่าจะดีกว่ามองดีเกินไป แล้วไว้วางใจหรือนิ่งนอนใจปล่อยให้กสท. 5 คนใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายโครงการดิจิทัลทีวี
เพื่อชักชวนให้”พลังสังคม”อย่าวางเฉยเป็นอันขาด จงร่วมกันเข้ามา”จับตา”กระบวนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอะนาล็อคไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินที่ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
การจัดประชุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ของผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.ที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ น่าจะเป็นการ”จุดประกาย”สังคมให้หันมาใส่ใจกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทีวีที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาสำคัญที่สุด
ในเดือนก.พ.นี้ กสท. 5 ท่านจะต้องร่างหลักเกณฑ์การประมูลช่องทีวีดิจิทัลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานฟรีทีวีแบบอะนาล็อคที่เป็นระบบกึ่งผูกขาด 6 ช่องไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลที่เริ่มต้น 48 ช่องที่มีผู้เล่นมากขึ้น
คณะทำงานของผศ.ดร.ธวัชชัยได้เสนอหลักการสำคัญที่เห็นร่วมกันในการกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการ เช่น การจัดสรรช่องรายการจะต้องคำนึงถึงการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดในกิจการโทรทัศน์,ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่ รายกลางและรายเล็กที่มีศักยภาพ,ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและเงินทุน แต่ต้องไม่นำไปสู่ความสามารถในการผูกขาดตลาด , การจัดสรรช่องรายการให้ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของประเภทรายการ,ความเป็นอิสระในการนำเสนอเนื้อหา,การป้องกันการครอบงำกิจการ
ประเด็นหลักที่น่าจะเห็นพ้องทุกฝ่ายโดยไม่ต้องอภิปรายคือผู้ประกอบการแต่ละรายไม่ควรถือครองช่องรายการในประเภทเดียวกันเกินกว่า 1 ช่องรายการ
แต่ข้อเสนอทางเลือกในการกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการของผู้ประกอบการที่มีความสนใจเข้าประมูลยังเป็นประเด็นที่ทราบว่าเสียงในกสท. 5 คนยังเห็นไม่ตรงกัน
ข้อเสนอแบบสุดขั้ว 2 แบบ
แบบแรก ผู้ประกอบการแต่ละรายจะเข้าประมูลได้เพียง 1 ช่อง แนวทางนี้จะทำให้มีผู้เล่นในดิจิทัลทีวีในช่องบริการธุรกิจมากถึง 24 รายแต่จะทำให้กลุ่มทุนฟรีทีวีเดิม,กลุ่มทุนสื่อบันเทิง,กลุ่มทุนนอกวงการ ไม่ยินยอมอย่างแน่นอนและกสท.จะได้เงินประมูลน้อยตามไปด้วย
แบบสอง ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถเข้าประมูลได้ไม่จำกัดจำนวนช่อง แนวทางนี้จะทำให้เกิดการผูกขาดแบบใหม่ กลุ่มทุนฟรีทีวีเดิม,กลุ่มทุนสื่อบันเทิง,กลุ่มทุนนอกวงการจะไชโยโห่ร้องเสนอประมูลกันคึกคัก
ข้อเสนอของคณะทำงานดร.ธวัชชัยเสนอไว้ 2 ทางเลือกคือ
ทางเลือกที่หนึ่ง ผู้ประกอบการ 1 ราย ถือครองได้ไม่เกิน 2 ช่องรายการที่มีเงื่อนไข”ห้ามช่องข่าวกับช่องวาไรตี้”จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน (CAP2) จะทำให้มีผู้เล่นในตลาดดิจิทัลทีวี จำนวนต่ำสุด 19 ราย
ทางเลือกที่สอง ผู้ประกอบการ 1 ราย ถือครองได้ไม่เกิน 3 ช่องรายการที่”ไม่มีเงื่อนไข”ห้ามช่องข่าวกับช่องวาไรตี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน จะทำให้มีผู้เล่นในตลาดดิจิทัลทีวีในตลาดดิจิทัลทีวี จำนวนต่ำสุด 14 ราย
ผมไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.เพียงแต่ให้ข้อสังเกตว่ายังมีอีกหลายปัจจัยในการพิจารณา เช่น ต้นทุนการใช้โครงข่าย , ภาระคูปองกล่องรับสัญญาณ , การประมูลดิจิทัลทีวีสาธารณะที่จะมีพวกจำแลง ฯลฯ แต่ตอนนี้ได้คำตอบชัดจากการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ทีวีเครือเนชั่นเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ก.พ.
เสียงเอกฉันท์ของคณะบรรณาธิการเครือเนชั่นขอเลือกทางเลือกที่หนึ่ง เราในฐานะผู้บุกเบิกสถานีข่าวทั้งวิทยุ,ไอทีวี, Nation Channel ควรจะเลือกเข้าประมูลดิจิทัลทีวี”ช่องข่าว”ช่องเดียวตามความถนัดเชี่ยวชาญที่สุดหรือ 2 ช่อง “ช่องข่าวกับช่องเด็ก” และพร้อมจะร่วมเป็นพันธมิตร”ผลิตข่าว”ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าประมูล”ช่องวาไรตี้”ที่ยังมีเงื่อนไขผังรายการข่าวไม่น้อยกว่า 25 %