Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

ประมูล”ดิจิทัลทีวี”ช่องละพันล.-ตัวเลขนี้”กสทช.”ได้แต่ใดมา?

Author by 7/06/12No Comments »

วันอาทิตย์ ที่ 3 มิถุนายน 2555

ผมถูกถามจากหลายคนถึงตัวเลขการประเมินมูลค่า “ใบอนุญาตดิจิทัลทีวี” ช่องละ 1,000 ล้านบาทที่อยู่ในเอกสารของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ บทสรุปผู้บริหาร เล่มที่ 1 กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลของประเทศไทยว่ามีความเห็นอย่างไร

   ผมตอบโดยทันทีว่าต้นทุนใบอนุญาตสูงขนาดนี้มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจน้อยมาก  ยิ่งได้อ่านจากเอกสารในหน้าที่ 9 ในข้อ 6 ว่าด้วยประโยชน์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาทแล้ว

  ยิ่งค่อนข้างจะเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกที่มีการผูกขาดในสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 ช่องมาหลายทศวรรษจะกลายเป็นการผูกขาดจากกลุ่มทุนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงโทรทัศน์ หรือกลุ่มทีวีอนาล็อกจะกวาด “ช่องทีวีดิจิทัล” ไปไว้ในมือหมด อาจจะกลายเป็นการผูกขาด “แบบพวง” คือหนึ่งเจ้าของฟรีทีวีอนาล็อกกลายมาเป็นเจ้าของดิจิทัลทีวีรายละ 5-10 ช่อง

   เอกสารของ กสท. จำแนกว่ามูลค่าการลงทุนโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท, มูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ของช่องรายการประเภทธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีจำนวน 50 ช่อง ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี น่าจะอยู่ที่ใบอนุญาตละ 1,000 ล้านบาท รวมมูลค่า 50,000 ล้านบาท และกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลสำหรับ 20 ล้านครัวเรือน รวมประมาณ 20,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ผลิตรายการหรือคอนเทนท์โปรไวเดอร์จะต้องมีการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์การผลิตรายการเป็นระบบดิจิทัล รายละไม่ต่ำกว่า 100-200 ล้านบาท

  ทำไมผมจึงคิดว่าตัวเลขค่าใบอนุญาตดิจิทัลทีวีต่อช่อง 1,000 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่แพงเกินไปมากๆ จนอยากจะรู้วิธีการคำนวณหรือประเมินมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ช่องรายการของ กสท.ว่ามาได้ไง ?

  ลองเปรียบเทียบงบโฆษณาของฟรีทีวีตามตัวเลขบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ในเดือน เม.ย.ปีนี้  5,526 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 66,300 ล้านบาท  ซึ่งเป็นตัวเลขจาก Rate Card ที่มีส่วนลดไม่น้อยกว่า 25-30% น่าจะเป็นตัวเลขการใช้เงินโฆษณาจริงๆ ประมาณ 50,000 ล้านบาท

  ฟรีทีวี 4 ช่อง (ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7 และช่อง 9) เป็นช่องที่สามารถหารายได้จากโฆษณา  ลองเฉลี่ยรายได้แต่ละช่องจากมูลค่างบโฆษณาตามการคำนวณของนีลเส็น 12,500 ล้านบาท

  ลองคิดบัญญัติไตรยางศ์จากจำนวนดิจิทัลทีวีประเภทธุรกิจที่ กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ที่สามารถมีรายได้จากโฆษณา 50 ช่องจะเท่ากับแต่ละช่องน่าจะสามารถแบ่งเค้กงบโฆษณาได้ช่องละ 250 ล้านบาทต่อปี (ที่เป็นตัวเลขที่สูงมากๆ)

  กรณีนี้เป็นกรณีที่ดีที่สุด Best Case บนสมมติฐาน ฟรีทีวีอนาล็อกทั้ง 4 ช่องไม่มีการออกอากาศอีกแล้ว ในวันที่ดิจิทัลทีวีเริ่มออกอากาศน่าจะประมาณปลายปี 2556 หลังจากเปิดประมูลในเดือน ส.ค. 2556 (บนสมมติฐานการออกใบอนุญาตลงทุนโครงข่ายดิจิทัลทีวีในเดือน ส.ค. 2555) และสามารถกระจายกล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีเข้าถึง 20 ล้านครัวเรือน

   ถ้าใบอนุญาตดิจิทัลทีวีมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท/ใบอนุญาตมีระยะเวลา 15 ปี  ลองคำนวณแบบบัญญัติไตรยางศ์เท่ากับว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องสำรองเงินไว้จ่ายค่าใช้ความถี่ปีละ 66 ล้านบาท

   ลองเทียบง่ายๆ ต้นทุนการประมูลใช้คลื่นความถี่ดิจิทัลทีวีจะเท่ากับประมาณเดือนละ 5.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการในระดับคุณภาพอีกเดือนละไม่น้อยกว่า  5-10 ล้านบาท, การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อใช้ในการออกอากาศระบบดิจิทัลทั้งช่องอีกประมาณ 100 ล้านบาท (ตามตัวเลข กสท.) และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายคลื่นความถี่ภาคพื้นดินดิจิทัลทีวีรายเดือนที่คงจะแพงไม่น้อยกว่าค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมอีกเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท

    เทียบออกมาแล้วต้นทุนใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่ช่องดิจิทัลทีวีน่าจะเป็นสัดส่วนสูงที่สุด แล้วกลุ่มผู้ผลิตรายการจะเหลืองบประมาณไปผลิตรายการที่ดีๆ มีคุณภาพได้อย่างไร ? 
 
    ซึ่งโดยความเป็นจริงในวันที่มีการประมูลคลื่นความถี่ช่องดิจิทัลทีวีในเดือน ส.ค.ปีหน้า 50 ช่อง ช่องฟรีทีวีแบบอนาล็อกยังอยู่ครบ 6 ช่องและช่อง 3 กับช่อง 7 จะอยู่ไปอีกเกือบ 10 ปีจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานและคงจะไม่มีใครซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีไปไว้ที่บ้านก่อนในช่วงที่ยังไม่มีการออกอากาศดิจิทัลทีวี 
  
  ในขณะที่การเข้าถึงครัวเรือนของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีท้องถิ่นในเดือน ส.ค. 2556 น่าจะเติบโตต่อเนื่องไปกว่า 70% ของครัวเรือนไทยหรือประมาณ  14-15 ล้านครัวเรือนจากเดือน ส.ค. 2554 ที่อยู่ประมาณ 11 ล้านครัวเรือน หรือ 50%

   กลุ่ม Content Provider ที่ส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์มดาวเทียมไทยคม และ NSS 6 ที่มีอยู่กว่า 200 ช่อง น่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเข้าประมูลคลื่นความถี่ช่องดิจิทัลทีวีมากที่สุด  คงจะคิดหนักว่าจะไปเสียเงินประมูลคลื่นความถี่ช่องดิจิทัลทีวีที่จะต้องเตรียมเงินขั้นต่ำมากถึง 1,000 ล้านบาทไปเพื่ออะไร  ในขณะที่การผลิตช่องทีวีดาวเทียม 1 ช่องมีต้นทุนหลักคือการลงทุนอุปกรณ์เพื่อผลิตรายการที่เป็นการลงทุนครั้งเดียวกับค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมรายเดือน แต่ถ้าเข้าประมูลดิจิทัลทีวีจะต้องมีเงินสดๆ บนหน้าตักช่องละ 1,000 ล้านบาทโดยยังต้องเตรียมเงินลงทุนอุปกรณ์และค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิทัลทีวีอีกมหาศาลเพื่อให้ได้คุณภาพแบบดิจิทัลหรือ HD

  ในขณะที่ช่วงเริ่มต้น กสทช.ยังต้องเร่งกระจายกล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีที่ กสทช.กำหนดไว้ในแผนแม่บทว่าในปี 2559 ครัวเรือนไทย 80%จะสามารถเข้าถึงดิจิทัลทีวีที่ยังไม่เป็นรูปธรรมว่าจะทำได้อย่างไร

   เมื่อเทียบกับจานดาวเทียมกับเคเบิลทีวีในปี 2556 ที่น่าจะเข้าถึงคนดูไปแล้วกว่า 14-15 ล้านครัวเรือน  และยังมีทางเลือกในการรับชมทีวีผ่านโทรศัพท์มือถือโครงข่าย 3G ได้อีก  แม้ว่าจะไม่สะดวกเท่ากับดูดิจิทัลทีวีผ่านมือถือแต่เป็นทางเลือกได้เช่นกันเมื่ออยู่นอกบ้าน

 ลองเปรียบเทียบมูลค่าสัมปทานช่อง 3 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จากเดิม 20 ปีหมดอายุไปเมื่อปี 2553 ช่อง 3 จ่ายค่าสัมปทานให้อสมท 2,002 ล้านบาทโดยมีสิทธิต่อสัญญาอีก 10 ปี  ช่อง 3 ยอมจ่ายเพิ่มให้ อสมท อีก 405 ล้านบาทแลกกับการต่ออายุไปอีก 10 ปีหมดอายุในปี 2563 รวมค่าสัมปทาน 2,407 ล้านบาท

  ช่อง 3 มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท จ่ายค่าสัมปทานให้ อสมท ปีละประมาณ 200 ล้านบาท แต่ถ้าใบอนุญาตคลื่นดิจิทัลทีวีต่อช่องมูลค่าขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปีเฉลี่ยปีละ 66 ล้านบาท  โดยถัวเฉลี่ยจากทีวีดาวเทียมแต่ละช่องน่าจะมีรายได้ในระดับปีละ 50-100-150-200 ล้านบาทเท่านั้นเอง

  ยิ่งคำนวณมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับดิจิทัลทีวีในเชิงเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ยิ่งรู้สึกว่าแพงมากๆ จนแทบไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับค่าสัมปทานของช่อง 7 ที่กองทัพบกได้ต่อสัญญาไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีผลบังคับใช้ไม่กี่เดือน  ช่อง 7 จะจ่ายค่าสัมปทานให้กองทัพบกปีละประมาณ 150 ล้านบาทเท่านั้นเอง

   ผมอยากให้ กสทช.ลองเปิดประชาพิจารณ์รับฟังเสียงผู้ผลิตช่องรายการต่างๆ ก่อนจะกำหนดราคาขั้นต่ำการประมูลคลื่นความถี่ดิจิทัลทีวีประเภทธุรกิจ 50 ช่องว่าจะตั้งราคาได้สูงถึงใบละ 1,000 ล้านบาทหรือไม่

   กสทช.ไม่ควรจะเร่งประมูลใบอนุญาตโครงข่ายดิจิทัลทีวีในเดือน ส.ค.นี้  หากกลุ่มผู้ผลิตช่องรายการยังมีคำถามมากมายถึงมูลค่าคลื่นความถี่ดิจิทัลทีวีที่ระบุไว้ในเอกสารของ กสทช.ที่จะกลายเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของการลงทุนช่องดิจิทัลทีวี 1 ช่อง  เมื่อเทียบกับการลงทุนช่องทีวีดาวเทียมที่เป็นการลงทุนครั้งเดียวแล้วเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นรายเดือนเท่านั้น  แต่ดิจิทัลทีวีจะมีเงินลงทุน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือค่าใช้คลื่นความถี่กับเงินลงทุนอุปกรณ์สำหรับการผลิตรายการและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนเช่าโครงข่ายดิจิทัลทีวีอีกที่อาจจะเป็นรายเดือนหรือรายปี  

   ผมไม่อยากให้ กสทช.เร่งรีบกลัวว่าประเทศไทยจะล้าหลังกลายเป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่มอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุนแต่ละส่วนว่าจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ เพราะปัจจัยแวดล้อมของประเทศไทยอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนที่ส่วนใหญ่ไม่มีช่องทีวีดาวเทียมมากถึง 200 ช่องที่เข้าถึงครัวเรือนได้มากขนาดนี้

    ถ้ารีบตัดถนนในระดับซูเปอร์ไฮเวย์ โดยไม่ประเมินความต้องการใช้ถนนที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตรายการ อาจจะทำให้การลงทุนโครงข่ายสูญเปล่าทางเศรษฐกิจได้
 
    คำถามทิ้งท้าย : ประเทศไทยอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีดิจิทัลทีวีมากถึง 100 ช่องตามเป้าหมายของ กสทช.ก็ได้  ถ้าหากครัวเรือนไทยเกือบทั้งหมด 100% ได้ติดตั้งจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่สามารถดูโทรทัศน์ดาวเทียมในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 200 ช่องและอีกมากกว่า 100 ช่องมาจากต่างประเทศ ยิ่งถ้าหาก กสทช.หวังแต่ “เงิน” เป็นตัวตั้งว่าจะได้จากค่าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ดิจิทัลทีวีมากถึง 50,000 ล้านบาทที่เกือบเท่ากับมูลค่างบโฆษณาของฟรีทีวีทั้งหมด ช่องดิจิทัลทีวีที่กำลังจะเกิดขึ้นนับร้อยช่องก็จะกลายเป็นการผูกขาดรอบใหม่ในธุรกิจนี้ที่เป็นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

โดยคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

http://www.oknation.net/blog/adisak