Home » กิจกรรมสภาวิชาชีพข่าวฯ

4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือถึง ประธานบอร์ด กสทช. ทบทวน (ร่าง) ประกาศการกำกับดูแลเนื้อหารายการในวิทยุและโทรทัศน์

Author by 19/07/13No Comments »

4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือถึง ประธานบอร์ด กสทช. ทบทวน (ร่าง) ประกาศการกำกับดูแลเนื้อหารายการในวิทยุและโทรทัศน์ หวั่นละเมิดสิทธิเสรีภาพการนำเสนอและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน หากเกิดการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและไม่เป็นธรรมตามประกาศกำกับเนื้อหาฉบับนี้

(19 ก.ค.56) นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ คณะกรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือ เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ต่อ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมทั้งนำส่งสำเนาหนังสือคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว ถึงรองประธาน และคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อีก 10 ท่าน คือ  พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์, พันเอก          ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ, พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ, ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ, พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์, นางสาวสุภิญญา      กลางณรงค์, นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร

โดยมี พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร เลขาธิการ ประธาน กสทช. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ให้เป็นผู้แทนมารับมอบหนังสือ เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. เพื่อนำส่งต่อประธานและคณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 11 ท่าน ในลำดับต่อไป

สำหรับเนื้อความในจดหมาย เรื่อง เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ อนุมัติให้นำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว นั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาใน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว พบว่า อาจเป็นร่างประกาศที่ กสทช. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนอันเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อการหลักการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ในที่สุด

องค์กรวิชาชีพทั้ง ๔ องค์กร จึงเห็นควรเสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาทบทวนมติที่ให้นำ(ร่าง) ประกาศ ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งตามรายละเอียดที่ปรากฏในคำแถลงการณ์สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒ ข้างต้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบและเพื่อพิจารณา ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพทั้ง ๔ องค์กรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะสามารถช่วยสนับสนุนให้การทำงานของ กสทช. เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์การทำหน้าที่ของ กสทช. ที่สำคัญในที่สุด

————————————————————————–

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖

เรื่อง    คัดค้าน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….

เรียน     พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี
ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

และรองประธาน และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร

สิ่งที่ส่งมาด้วย    ๑. แถลงการณ์เรื่อง ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไข (ร่าง)ประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.๓๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖

๒. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ของ กสทช. ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ อนุมัติให้นำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว นั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาใน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว พบว่า อาจเป็นร่างประกาศที่ กสทช. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนอันเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อการหลักการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ในที่สุด

องค์กรวิชาชีพทั้ง ๔ องค์กร จึงเห็นควรเสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาทบทวนมติที่ให้นำ(ร่าง) ประกาศ ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งตามรายละเอียดที่ปรากฏในคำแถลงการณ์สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒ ข้างต้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบและเพื่อพิจารณา ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพทั้ง ๔ องค์กรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะสามารถช่วยสนับสนุนให้การทำงานของ กสทช. เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์การทำหน้าที่ของ กสทช. ที่สำคัญในที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ

เรื่องคัดค้านร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง

และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ….ของ กสทช.

สืบเนื่องจาก ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไขการจัดทำ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ…เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันจะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างน้อย ๕ มาตรา

โดยมีความเห็นว่า กสทช.กำลังขยายขอบเขตอำนาจในการกำกับดูแลสื่อมวลชนเกินกว่ากฎหมายให้อำนาจไว้ และ กสทช.ยังมีกลไกอื่นๆที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้เสนอแนะให้ กสทช.พิจารณาทบทวนแก้ไข (ร่าง) ประกาศดังกล่าวอย่างรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างฯก่อนนำออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมาย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงโดยหาก กสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กรที่มีสมาชิกเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำหรือยกร่างประกาศนั้น

หลังจากที่๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกแถลงการณ์ไปแล้วนั้น ต่อมา ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้รับหนังสือเชิญประชุมกลุ่มย่อย(Focus Group)เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง)ประกาศ จาก กสทช. ให้เข้าร่วมประชุมในวันนี้(๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖) ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นก่อนการประชุมกลุ่มย่อย(Focus Group)  ตัวแทน ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อได้สอบถามถึงกระบวนการขั้นตอนและความเป็นไปได้ในการนำความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาปรับปรุงการจัดทำหรือยกร่างประกาศก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ประธานในที่ประชุม พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ชี้แจงว่า การจัดประชุมกลุ่มย่อย(Focus Group) ครั้งนี้ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
พ.ศ…. เพราะ(ร่าง)ประกาศฉบับนี้ ได้ผ่านมติความเห็นชอบ ของ กสทช.ให้นำออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖แต่ กสทช.จะรับไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเช่นเดียวกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะจัดให้มีขึ้นอย่างเปิดเผยตามมติของ กสทช.ต่อไป

๔ องค์กรวิชาชีพสื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างประกาศอย่างแท้จริงตามที่ได้แสดงเจตนาไว้แต่ต้นกับ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบกับการปรับแก้ไข(ร่าง)ประกาศฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่ต้องเริ่มต้นยกร่างใหม่ด้วยการทำความเข้าใจในหลักการและวิธีปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน กลไกและกระบวนการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อและสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างเป็นอิสระ การสร้างความเข้มแข็งและการรู้เท่าทันสื่ออย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงภาพรวมทั้งระบบ

หาก กสทช. ยังคงยืนยันนำร่างประกาศฉบับดังกล่าวนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ จะคัดค้านอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นร่างประกาศที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในการได้รับข้อมูลข่าวสาร อันอาจนำพาประเทศไทยกลับไปสู่ยุคของการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคของเผด็จการรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา

๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงขอยื่นข้อเสนอต่อ กสทช.ว่า ขอให้ กสทช.พิจารณาทบทวนการนำร่างประกาศที่ผ่านมติของ กสทช. ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล หลักการ ความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างฯ อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำให้ร่างประกาศฉบับนี้มีสภาพบังคับใช้เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพกำกับดูแลสื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิผลและนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมโดยรวมต่อไป

ทั้งนี้ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคัดค้านการจัดทำร่างประกาศที่มีกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้ต่อ กสทช. ต่อไป

๑๘กรกฎาคม ๒๕๕๖

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

4 องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้  กสทช. ทบทวนและแก้ไข ร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.37

(9 ก.ค.56) ที่ประชุมร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีมติและข้อสรุปร่วมกันจากกรณี ที่ กสทช. ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ…….     ว่า

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กสทช. จะต้องมีกลไกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อมวลชนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดร่างประกาศฉบับดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 37แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจ “ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง” แต่จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาที่ปรากฏในร่างฉบับดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ พบว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบดังนี้คือ

1.เนื้อหาของร่างประกาศนี้อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพราะมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้

2. การใช้อำนาจกำกับดูแลของกสทช.ตามร่างประกาศนี้อาจเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของ กสทช.เกินกว่าที่ มาตรา 37 พรบ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 ให้อำนาจไว้

3. กสทช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 37 นี้ร่วมกับกลไกอื่นๆที่ กสทช.ได้ประกาศใช้ไปแล้ว คือ ประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง หรือ ร่างประกาศ เรื่อง การรวมกลุ่มเพื่อกำกับดูแลกันเองของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพกำกับดูแลดันเองด้านจริยธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

4. เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดของร่างประกาศ พบว่า

4.1 หมวด 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้คำจำกัดความถ้อยคำบางประการให้ชัดเจนเพื่อคุ้มครองการได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน เช่น รายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ที่มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการทำลายสันติสุขโดยพลันหรือก่อให้เกิดการใช้กำลังหรือความรุนแรงในสังคม เป็นต้น

4.2 หมวด 2 การกำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาต” ซึ่งหมายถึงเจ้าของสื่อ มีหน้าที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดการแทรกแซงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สาธารณะ อันจะนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือการเซ็นเซอร์ได้โดยง่าย

4.3 หมวดที่ 3 การกำกับดูแลที่ให้อำนาจผู้รับใบอนุญาตในการกำกับดูแลตรวจสอบเนื้อหาของรายการอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของพนักงาน ลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรม

องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร จึงเห็นควรเสนอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และหาก กสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กรยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป

9 กรกฎาคม 2556

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ